แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีใบเสร็จรับเงินซึ่งเขียนด้วยลายมือบุคคลคนเดียวกันรวม 43 ฉบับมาแสดงอ้างว่าซื้อสินค้าจากร้าน ช.และร้านท.แต่โจทก์ไม่อาจหาผู้รับเงินได้ทั้งสองรายอ้างว่าร้านค้าทั้งสองรายเลิกกิจการไปแล้ว และไม่อาจตามหาเจ้าของร้านมาแสดงตัวได้ดังนี้ โจทก์น่าจะนำสืบพยานหลักฐานอื่นประกอบให้น่าเชื่อว่าโจทก์ได้สั่งซื้อสินค้าไปจากร้านค้าทั้งสองจริง และได้ชำระเงินไปจริงด้วยวิธีการใด แต่โจทก์หาได้นำสืบอย่างหนึ่งอย่างใดไม่จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีการจ่ายเงินค่าสินค้าไปจริง ตามพฤติการณ์ถือได้ว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เท่ากับยืนตามความเห็นของเจ้าพนักงานประเมิน เมื่อได้ทำคำวินิจฉัยเป็นหนังสือและส่งไปยังโจทก์ผู้อุทธรณ์ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 34 จึงชอบแล้ว เพราะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 34 ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต้องให้เหตุผลในคำวินิจฉัยแจ้งไปยังผู้อุทธรณ์ด้วยแต่อย่างใด รายจ่ายใดที่โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งไว้ในชั้นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แสดงว่าโจทก์พอใจการประเมินในรายการเกี่ยวกับรายจ่ายเหล่านั้นแล้ว โจทก์จะยกมากล่าวอ้างในชั้นศาลว่าการประเมินรายการนั้นไม่ถูกต้องหาได้ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาประเด็นแรกว่า เงินค่าซื้อวัสดุในการก่อสร้างของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3จำนวน 43 ฉบับ ถือเป็นรายจ่ายนำไปหักออกจากรายได้เพื่อคำนวณหากำไรสุทธิที่โจทก์จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2520 ได้หรือไม่ นั้น โจทก์มีใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย จ.3 รวม 43 ฉบับ มาแสดง นายกำธร ธรรมวโร ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทโจทก์เบิกความว่า โจทก์ซื้อวัสดุก่อสร้างมาจากร้าน ชัยเจริญและร้านไทยวาณิช การชำระเงินค่าวัสดุก่อสร้างแก่ร้านค้าทั้งสองโจทก์ชำระเป็นเงินสด บางครั้งชำระเป็นเช็คของนายกำธร เองเป็นเช็คส่วนตัวเนื่องจากหนี้ของโจทก์และของนายกำธร แยก กันไม่ได้การซื้อวัสดุก่อสร้างดังกล่าวโจทก์ติดต่อกับพนักงานขายของร้านค้าผู้ขาย ซึ่งพนักงานขายคนเดียวอาจไปติดต่อซื้อจากร้านค้าหลายร้านรวมกัน ใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.3 ทั้งหมดเขียนขึ้นด้วยลายมือของบุคคลคนเดียวกัน อาจเป็นเพราะพนักงานขายคนเดียวเป็นผู้เขียนขึ้นทั้งหมดก็ได้ ร้านค้าทั้งสองร้านที่โจทก์ซื้อวัสดุก่อสร้างแม้จะเป็นร้านขนาดเล็ก แต่ก็อาจจะมีสถานที่เก็บวัสดุก่อสร้างที่จะขายไว้ในสถานที่อื่นก็ได้ ในการที่โจทก์ไปทำการก่อสร้างต่างจังหวัดโจทก์ยังคงสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากร้านค้าทั้งสองซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานครก็เพราะเหตุว่าทั้งสองร้านขายราคาถูกกว่าต่างจังหวัดเหตุที่โจทก์ตามหาเจ้าของร้านค้าทั้งสองมาเป็นพยานรับรองใบเสร็จรับเงินไม่ได้ก็เพราะร้านค้าทั้งสองเลิกกิจการไปแล้วและเป็นเวลานานประมาณ 5 ปีมาแล้วด้วย นายมนันต์ ปิลันธดิลก ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างของโจทก์มีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างเบิกความว่าโจทก์ซื้อวัสดุก่อสร้างผ่านนายหน้า เพราะซื้อได้ราคาถูกกว่าการซื้อโดยตรง ร้านค้าทั้งสองที่โจทก์ซื้อวัสดุแม้จะเป็นร้านเล็ก แต่ก็มีวัสดุจำนวนมากขายให้โจทก์ ถ้าหากจำเป็นก็อาจสั่งซื้อต่อไปยังบริษัทใหญ่ให้โจทก์อีกทอดหนึ่ง จำเลยทั้งสี่มีนางนฤมล พงศ์สุวรรณซึ่งรับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากรของจำเลยที่ 1เบิกความว่า ได้ตรวจสอบรายรับและรายจ่ายของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2520 มียอดรายจ่ายสูงจำนวน 2,958,400 บาทที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงิน โจทก์อ้างว่าได้จ่ายให้แก่บุคคลภายนอกโดยมีใบเสร็จรับเงิน ใน นามของร้านชัยเจริญและร้านไทยวาณิช จึงจำต้องพิสูจน์ว่ามีผู้รับตามที่โจทก์จ่ายไปจริงหรือไม่ ได้มีหนังสือติดต่อไปยังร้านค้าทั้งสอง ปรากฏว่าส่งให้ไม่ได้เมื่อไปหาหลักฐานที่กระทรวงพาณิชย์ ทราบว่าร้านค้าทั้งสองได้จดทะเบียนพาณิชย์ไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ให้เจ้าพนักงานนำหนังสือสอบถามไปส่งแก่ร้านค้าทั้งสอง ปรากฏว่าร้านชัยเจริญมีเลขที่ร้านจริงแต่เป็นร้านค้าของผู้อื่น ส่วนร้านไทยวาณิช ไม่มีร้านค้า เมื่อตรวจสอบหลักฐานการชำระภาษีของร้านค้าทั้งสองปรากฏว่าไม่เคยมีการเสียภาษีเลย จึงแจ้งให้โจทก์ไปพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้รับเงินตามที่โจทก์อ้างว่าได้จ่ายไปนั้น โจทก์มอบอำนาจให้นายเบญจ์ ธีระโกเมน ไปพิสูจน์แทนนายเบญจ์ แจ้งว่าไม่สามารถนำเจ้าของร้านค้าทั้งสองไปให้เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบได้ จึงถือว่ารายจ่ายจำนวน 2,958,400 บาท ของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปีพ.ศ. 2520 ไม่ใช่รายจ่ายจริงเพราะโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเห็นว่า ใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ. 3 ซึ่ง โจทก์อ้างว่าได้จ่ายเงินไปจริงในการซื้อวัสดุก่อสร้างไปใช้ในงานรับเหมาก่อสร้างของโจทก์แม้ว่าโจทก์จะให้เหตุผลกล่าวแก้ข้อพิสูจน์ของเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งมีจำนวน 43 ฉบับ ว่าที่เขียนด้วยลายมือของบุคคลคนเดียวกัน อาจเป็นเพราะโจทก์สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างผ่านนายหน้าคนเดียวกัน นายหน้าอาจเป็นคนเขียนใบเสร็จรับเงินทั้งหมดก็ได้ การชำระเงินตามใบเสร็จรับเงินทั้งหมดชำระกันในระยะเวลาปลายปี พ.ศ. 2520 เป็นเพราะโจทก์ไม่ได้ชำระด้วยเงินสดจึงคิดบัญชีกันในปลายปี ข้อกล่าวแก้ของโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างของพยานบุคคลของโจทก์ซึ่งน่าระแวงว่าจะเบิกความช่วยเหลือโจทก์โดยไม่มีหลักฐานอื่นใดสนับสนุน ข้อกล่าวแก้ของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อยไม่น่าเชื่อ ส่วนในเรื่องการพิสูจน์หาผู้รับเงินจำนวนที่โจทก์ได้จ่ายไปนั้น โจทก์หาไม่ได้ทั้งสองรายอ้างว่าร้านค้าทั้งสองรายเลิกกิจการไปแล้วทั้งเป็นเวลานานประมาณ5 ปี ไม่อาจตามหาเจ้าของร้านมาแสดงตัวได้ เห็นว่า โจทก์น่าจะพิสูจน์ได้ด้วยการนำสืบพยานหลักฐานอื่นประกอบให้น่าเชื่อว่าโจทก์ได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างไปจากร้านค้าทั้งสองจริง และได้ชำระเงินค่าวัสดุก่อสร้างนั้นไปจริงด้วยวิธีการใดแต่โจทก์หาได้นำสืบอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ ดังนี้ จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีการจ่ายเงินค่าซื้อวัสดุก่อสร้างไปจริง ตามพฤติการณ์จึงถือได้ว่ารายจ่ายค่าซื้อวัสดุก่อสร้างจำนวน 2,958,400 บาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
ประเด็นต่อไปเรื่องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์ส่งไปยังโจทก์ชอบด้วยประมวลรัษฎากรหรือไม่ ได้ความว่าโจทก์อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์ให้ข้อเท็จจริงและรายละเอียดในการอุทธรณ์โดยกล่าวอ้างว่ารายจ่ายค่าซื้อวัสดุก่อสร้างตามเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ได้จ่ายให้แก่ร้านชัยเจริญ และร้านไทยวาณิช เป็นการกล่าวอ้างว่าเป็นรายจ่ายที่นำไปหักจากรายได้เพื่อคำนวณหากำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ เท่ากับยืนตามความเห็นของเจ้าพนักงานประเมินว่าค่าวัสดุก่อสร้างที่โจทก์จ่ายไปเป็นรายจ่ายที่โจทก์ผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ได้ทำคำวินิจฉัยเป็นหนังสือและส่งไปยังโจทก์ผู้อุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 34จึงชอบแล้ว เพราะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 34 ไม่ได้บัญญัติให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต้องให้เหตุผลในคำวินิจฉัยแจ้งไปยังโจทก์ด้วยแต่อย่างใด
ประเด็นสุดท้ายเรื่องรายจ่ายตามเอกสารหมาย ล.16 ล.17 และ ล.18จะนำมาหักออกจากรายได้เพื่อคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปีพ.ศ. 2520 ของโจทก์ได้หรือไม่ นั้น เห็นว่า รายจ่ายตามเอกสารหมายล.16 ล. 17 และ ล.18 โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งไว้ในขั้นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แสดงว่าโจทก์พอใจการประเมินในรายการเกี่ยวกับรายจ่ายเหล่านั้นแล้ว โจทก์จะยกมากล่าวอ้างในชั้นศาลว่าการประเมินรายการนั้นไม่ถูกต้องหาได้ไม่ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.