แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่โจทก์ โดยสัญญาว่าจะให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 14789 จดทะเบียนภาระจำยอมเป็นทางเข้าออกของที่ดินโจทก์ที่ซื้อจากจำเลยที่ 1 แม้ในขณะทำสัญญาจะซื้อขาย จำเลยที่ 1 จะมิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือแสดงว่ายินยอมจดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าว แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือยินยอมให้จดทะเบียนภาระจำยอมในภายหลังโจทก์ฟ้องคดีแล้ว ก็คงมีผลผูกพัน จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติตามสัญญาที่เคยให้แก่โจทก์ไว้ขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ นำที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๗๘๙ ตำบลสามเสน ในอำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยที่ ๒ นำที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๘๗ ตำบลสามเสนใน อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร ไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้ที่ดินของโจทก์ในโฉนดเลขที่ ๑๓๐๐๑๗ ตำบลสามเสนใน อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร หากจำเลยทั้งสองหรือคนใดคนหนึ่งไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปีของต้นเงิน ๒๔,๖๐๐,๐๐๐ บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะปฏิบัติตามคำพิพากษา
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าไม่เคยให้สัญญาที่จะจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์และไม่เคยรับเงินค่าผ่านทางจากโจทก์ สัญญาจะซื้อจะขายตามฟ้องโจทก์ระบุชัดแจ้งว่า จำเลยที่ ๑ ขายที่ดินให้แก่โจทก์ไม่รวมถนนเข้าบ้านไม่มีข้อความใดระบุว่าจำเลยที่ ๑ จะต้องจดทะเบียนภาระจำยอม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ อนุญาตให้โจทก์ผ่านทางเข้าออกได้ในลักษณะบุคคลสิทธิเท่านั้น ไม่ใช่ลักษณะทรัพยสิทธิ จำเลยที่ ๒ ไม่เคยสัญญากับโจทก์ว่าจะจดทะเบียนภาระจำยอมให้ โจทก์สามารถผ่านทางเข้าออกไปยังที่ดินของตนได้ตลอดเวลาที่จำเลยที่ ๒ ได้ให้ความยินยอมไว้ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสอง จำเลยที่ ๑ ถึงแก่กรรม นางศิริสังวาลย์ ชื่นวงศ์และนายสภา วัจนะรัตน์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ นำโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๗๘๙ ตำบลสามเสนใน อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร ไปจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๐๐๑๗ ตำบลสามเสนใน อำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๓๙ จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางละมูล ซึ่งเป็นพี่สาวจำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๗๘๙ ตำบลสามเสนใน อำเภอดุสิต (บางซื่อ) ปัจจุบันเป็นเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นมรดกของนางละมูล โดยขายเฉพาะที่ดินไม่ปลูกบ้านในราคาตารางวาละ ๑๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ ตามสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ. ๑ โดยในสัญญาซื้อขายดังกล่าวนั้นจำเลยที่ ๒ ได้ลงชื่อกำกับใต้ข้อความที่บันทึกไว้ว่า จำเลยที่ ๒ ยินยอมให้โจทก์ใช้ถนนด้านที่ดินของตนได้ตลอดไป ต่อมาวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๙ จำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนแบ่งขายที่ดินให้แก่โจทก์ตามที่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายไว้ดังกล่าว โดยแบ่งขายให้โจทก์เนื้อที่ดิน ๒๔๖ ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ. ๒๐ ในการแบ่งขายนี้ได้แบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๗๘๙ ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๐๐๑๗ ให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ. ๑ ที่ดินของโจทก์ที่ซื้อมาดังกล่าวนี้จะต้องใช้ทางผ่านที่ดินมรดกของนางละมูลบางส่วนที่เหลือจากการขายให้โจทก์และผ่านที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๘๙ ตำบลสามเสนใน อำเภอพญาไท (เดิมอำเภอบางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ ๒ บางส่วน
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ ๑ ว่าจำเลยที่ ๑ ได้ให้สัญญาว่าจะนำที่ดินของตนไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์หรือไม่ นั้น โจทก์มีพยานบุคคลมาเบิกความยืนยันสอดคล้องกันทั้งมีหนังสือการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑ ยินยอมให้ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๔๗๘๙ จดทะเบียนภาระจำยอมเป็นทางเข้าออกของที่ดินโจทก์ตามหนังสือเอกสารหมาย จ. ๘ และ จ. ๑๐ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ดีกว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งคงมีแต่พยานจำเลยที่ ๒ มาเบิกความลอย ๆ เท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้ขายที่ดินให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ ๑ ได้สัญญาว่าจะให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๗๘๙ จดทะเบียนภาระจำยอมเป็นทางเข้าออกของที่ดินโจทก์ที่ซื้อจากจำเลยที่ ๑ แม้ในขณะทำสัญญาจะซื้อขายกระทำการโอนการซื้อขายกัน จำเลยที่ ๑ มิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือแสดงว่าจำเลยที่ ๑ ยินยอมจดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าว แต่โจทก์มีหนังสือยินยอมให้จดทะเบียนภาระจำยอมตามเอกสารหมาย จ. ๘ และ จ. ๑๐ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ทำขึ้นภายหลังโจทก์ฟ้องคดีแล้ว ก็คงมีผลผูกพันจำเลยที่ ๑ จะต้องปฏิบัติตามสัญญาที่จำเลยที่ ๑ เคยได้ให้แก่โจทก์ไว้ขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินกัน โดยไม่จำต้องคำนึงว่า จำเลยที่ ๑ ได้แสดงเจตนากระทำนิติกรรม ดังกล่าวในฐานผู้จัดการมรดกนั้น มีทายาทผู้รับมรดกคัดค้านหรือไม่ เนื่องจากจำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ แม้ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ได้นำสืบว่าได้ทำหนังสือคัดค้านเสนอที่เขตพญาไท จำเลยที่ ๑ ก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมายืนยันว่าจำเลยที่ ๒ ได้คัดค้านในเรื่องจำเลยที่ ๑ ยินยอมอนุญาตให้จดทะเบียนภาระจำยอมหรือคัดค้านในเรื่องจำเลยที่ ๑ อุทิศที่ดินให้เป็นที่สาธารณะ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๒ ได้คัดค้านไว้ตามที่จำเลยที่ ๑ ฎีกา ฎีกาจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต่อไปตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยที่ ๒ ต้องจดทะเบียนภาระจำยอมให้โจทก์ด้วยหรือไม่ในปัญหานี้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.