คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยรับจ้างขนสิ่งของทางเรือไปส่งโจทก์ แล้วเรือที่บรรทุกของของโจทก์ล่มลง ข้าวของของโจทก์เสียหายเช่นนี้ จำเลยจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เว้นแต่จำเลยจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนี้ได้เกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยรับจ้างขนปูนซิเมนต์ของโจทก์ไปทางเรือ2,700 กระสอบ โดยเอาบรรทุกเรือยนต์ 1,400 กระสอบ และส่วนที่เหลือเอาบรรทุกเรือใบแล้วใช้เรือยนต์ลากไปเพื่อส่งแก่โจทก์ จำเลยคงนำปูนไปส่งโจทก์ได้ 1,400 กระสอบ อีก 1,300 กระสอบเรือล่มเสียหายหมดเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยจึงฟ้องขอให้จำเลยใช้ค่าปูน 42,900 บาท กับค่าที่โจทก์ขาดกำไร 5,200 บาท

จำเลยให้การว่าเรือจมเพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด และฟ้องแย้งเรียกค่าบรรทุกปูน 1,400 กระสอบ

โจทก์แก้ฟ้องแย้งว่าจำเลยปฏิบัติยังไม่เสร็จตามสัญญา จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าระวาง

ศาลชั้นต้นได้พิจารณาคดีแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าปูนกับค่าที่โจทก์จะได้กำไรอีก 4,000 บาท รวมเป็น 46,900 บาทและให้เสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งนับตั้งแต่ 27 พฤศจิกายน 2495จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้โจทก์ใช้ค่าระวาง 4,200 บาทแก่จำเลยที่ 1สำหรับจำเลยที่ 2, 3, 4 ไม่ต้องรับผิด

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แก้เฉพาะข้อที่จำเลยเสียดอกเบี้ยเป็นไม่ต้องใช้

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามมาตรา 616 แห่งประมวลแพ่งฯ บัญญัติว่า”ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลาย หรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหายหรือบุบสลายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย ฯลฯ” เช่นนี้จำเลยจึงมีหน้าที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเรือบรรทุกปูนของโจทก์ได้จมเพราะเหตุสุดวิสัยจริง แต่ข้อเท็จจริงเท่าที่สืบกันมาน่าเชื่อฝ่ายโจทก์มากกว่าจำเลย เพราะโจทก์มีพนักงานของกรมอุตุนิยมวิทยามาเบิกความยืนยันว่าในวันเกิดเหตุนั้นลักษณะอากาศที่กันตังและที่ภูเก็ตปรกติ ทะเลเรียบ เกาะลันตาห่างจากกันตังราว 46 กิโลเมตรถ้าที่เกาะลันตามีพายุตัวเลขจะแสดงให้เห็นความผิดปรกติไปจากที่สำรวจไว้ เมื่อพยานจำเลยเชื่อไม่ได้ว่าเกิดพายุใหญ่และมีคลื่นลมแรงจึงทำให้เรือจม ก็เป็นอันว่าจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่า การสูญหายปูนซีเมนต์ของโจทก์เป็นโดยเหตุสุดวิสัย จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share