คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3591/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่านายจ้างได้กระทำการฝ่าฝืนประกาศ กระทรวง มหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตามพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจเตือนให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้อง ภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามประกาศ กระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 77 แต่คำเตือนดังกล่าวมีผล เพียงเป็นการชี้แนะของเจ้าหน้าที่เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่าง นายจ้างลูกจ้าง มิใช่เป็นคำสั่งหรือคำวินิจฉัยที่กฎหมายบัญญัติ ให้โจทก์ต้องปฏิบัติตาม ถ้านายจ้างเห็นว่าคำเตือนนั้น ไม่ถูกต้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ คำเตือนดังกล่าวจึงไม่เป็น การกระทบกระเทือนต่อสิทธิหน้าที่ของโจทก์ไม่เป็นการโต้แย้ง เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของนายจ้างตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 นายจ้างไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนพนักงานตรวจแรงงานที่ 24/2541 ดังกล่าวเสีย
จำเลยทั้งสี่ไม่ให้การ
ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์คำฟ้องแล้วเห็นว่า ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องไว้เป็นการสั่งโดยผิดหลง ให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเป็นไม่รับฟ้องจำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ 24/2541 หรือไม่ เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 77 บัญญัติว่าเมื่อปรากฏว่านายจ้างฝ่าฝืนประกาศนี้ พนักงานตรวจแรงงานอาจให้คำเตือนเพื่อให้นายจ้างปฏิบัติการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำเตือนเสียก่อนก็ได้หมายความว่าเมื่อปรากฏว่านายจ้างได้กระทำการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจเตือนให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่ 8 อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สอบสวนตามที่นายอัศวิน กุลนิตยาภรณ์ ร้องเรียนว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ผลการสอบสวนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ปรากฏว่าโจทก์ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 จึงออกคำเตือนแก่โจทก์ โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 77 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นายอัศวิน กุลนิตยาภรณ์ ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำเตือนนั้น คำเตือนดังกล่าวมีผลเพียงเป็นการชี้แนะของเจ้าหน้าที่เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างลูกจ้างมิใช่เป็นคำสั่งหรือคำวินิจฉัยที่กฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องปฏิบัติตาม ถ้าโจทก์เห็นว่าคำเตือนนั้นไม่ถูกต้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ คำเตือนดังกล่าวจึงไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิหน้าที่ของโจทก์ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ออกคำเตือนแก่โจทก์จึงไม่เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานที่ 24/2541 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share