แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติมาตรา 37 และมาตรา 93 แห่ง พ.ร.บ.ประกันชีวิตพ.ศ. 2535 มุ่งคุ้มครองผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์เพราะบริษัทประกันชีวิตที่มีนิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยมีอำนาจต่อรองสูงกว่าผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
การฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 มาตรา 37 ของบริษัทประกันชีวิตโดยประวิงการใช้เงินแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ มิใช่เพียงเป็นการผิดสัญญาประกันภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์อีกด้วย ดังนั้น หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า อาศัยอำนาจตามมาตรา 37 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการใช้เงิน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต ลงวันที่ 7กุมภาพันธ์ 2537 กำหนดในข้อ 7 ว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้บริษัทใช้เงินตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่บริษัทไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจนพ้นระยะเวลาที่กำหนดในคำบังคับ เป็นการประวิงการใช้เงินตามมาตรา 37 วรรคสอง โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย ระหว่างอายุสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามกรมธรรม์แต่จำเลยไม่ใช้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์แต่จนพ้นระยะเวลาที่กำหนดในคำบังคับจำเลยก็ยังไม่ใช้เงินแก่โจทก์ จนโจทก์ต้องดำเนินการบังคับคดี จำเลยจึงยอมใช้เงินให้ ทำให้โจทก์ต้องเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าจ้างทนายความในการบังคับคดีและขอให้จำเลยใช้เงินดังกล่าว การกระทำของจำเลยตามฟ้องย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้นนอกจากการเยียวยาความเสียหายโดยการดำเนินการบังคับคดีตามปกติอย่างคดีแพ่งทั่วไปแล้ว โจทก์ยังฟ้องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิดได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับฟ้องคดีของโจทก์ไว้แล้วดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป