แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งมีผู้ลงลายพิมพ์นิ้วมือเป็นพยานคนหนึ่งและมีผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานอีกคนหนึ่ง กับมีนายอำเภอผู้จัดทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อในฐานะนายอำเภอนั้นการลงลายพิมพ์นิ้วมือเป็นพยานใช้ไม่ได้ พยานในพินัยกรรมจึงเหลือเพียงคนเดียวขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 แต่พินัยกรรมฉบับนี้ได้ทำต่อหน้านายอำเภอ จึงถือได้ว่านายอำเภอเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยอีกผู้หนึ่งโดยไม่จำต้องมีข้อความเขียนบอกว่าลงชื่อเป็นพยานอีกฐานะหนึ่ง เมื่อรวมแล้วจึงเป็นพินัยกรรมที่ทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกันอนุโลมเข้าแบบพินัยกรรมธรรมดาตามมาตรา 1656,136(อ้างฎีกาที่ 1612/2515)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายสร้อย นางแพง แสงพรหมชาลีสามีภริยามีบุตร 4 คนคือโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสอง นายสร้อยและนางแพงถึงแก่กรรมไปแล้วมีทรัพย์สินคือที่ดิน 3 แปลง เรือน 1 หลัง กระบือ 3 ตัว ยุ้งข้าว 1 หลังกับที่ดินปลูกบ้าน 1 แปลงหลังจากนายสร้อยและนางแพงถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์และจำเลยได้ร่วมกันครอบครองทำกินตลอดมา โจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยทั้งสองจัดการแบ่งมรดก แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมแบ่งให้ ขอให้จำเลยแบ่งมรดกตามฟ้องเป็น 4 ส่วนให้โจทก์ได้คนละ 1 ส่วน
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่านาแปลงที่ 2 นั้นเดิมมีเนื้อที่ 38ไร่เศษ จำเลยได้รับส่วนแบ่ง 12 ไร่พร้อมกับโจทก์ซึ่งได้รับส่วนแบ่ง 26 ไร่ แต่โจทก์ทั้งสองได้ยกนามรดกดังกล่าวให้นายลา พาระแพงสามีของโจทก์ที่ 1ไปแจ้ง ภ.บ.ท.6 และเสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของนายลา พาระแพง เป็นการปกปิด แล้วโจทก์ทั้งสองกลับมาฟ้องเรียกมรดกจากจำเลย จำเลยขอฟ้องแย้งเรียกนา 26 ไร่ให้โจทก์โอนให้จำเลย ถ้าโจทก์ไม่ยอมโอนขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งสอง นายสร้อยซึ่งมีชื่อว่าเชียงอีกชื่อหนึ่งได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกตามฟ้องทั้งหมดให้จำเลยแล้ว ตามสำเนาพินัยกรรมท้ายคำให้การและฟ้องแย้ง โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นาที่จำเลยฟ้องแย้งนายสร้อย แสงพรหมชาลียกให้โจทก์ที่ 1 และนายสีลา พาระแพงมา 30 ปีแล้ว เมื่อโจทก์ที่ 1 แต่งงานกับนายสีลา พาระแพง นายสีลาและโจทก์ที่ 1 ได้ครอบครองเพื่อตนเองโดยสงบเปิดเผยและเป็นเจ้าของตลอดมา นายสีลาได้แจ้งแบบสำรวจเนื้อที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ และได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาไม่ได้เป็นมรดกของนายสร้อย จำเลยไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ในฐานะทายาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง
นายสีลา พาระแพงสามีโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมอ้างว่าที่ดินที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งนั้นเป็นของโจทก์ร่วมกับโจทก์ที่ 1 โดยนายสร้อยยกให้เมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว และถือเอาคำให้การโจทก์แก้ฟ้องแย้งเป็นคำให้การของโจทก์ร่วมด้วย ศาลชั้นต้นอนุญาต
ในวันนัดพร้อม โจทก์และโจทก์ร่วมรับว่านายสร้อยหรือเชียงได้ทำพินัยกรรมท้ายคำให้การและฟ้องแย้ง แต่การลงลายพิมพ์นิ้วมือของนายสร้อยหรือเชียงในพินัยกรรมไม่มีพยานรับรองการพิมพ์ลายนิ้วมือไว้จึงเป็นพินัยกรรมไม่สมบูรณ์ โจทก์และจำเลยรับว่าในวันทำพินัยกรรมนายเชียงหรือสร้อยได้แบ่งที่ดินตามคำร้องของโจทก์ร่วมให้โจทก์ร่วมจริง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดสืบพยานทุกฝ่ายแล้ววินิจฉัยว่าที่ดินที่จำเลยฟ้องแย้งนั้น นายสร้อยหรือเชียงได้ยกให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ร่วมก่อนนายสร้อยหรือเชียงทำพินัยกรรมตามที่จำเลยอ้างส่วนพินัยกรรมที่จำเลยอ้างนายสูนย์ แสงพรหมชาลีพยานในพินัยกรรมคนหนึ่งลงลายพิมพ์นิ้วมือจึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1666 ตกเป็นโมฆะในลักษณะพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง แต่พินัยกรรมฉบับนี้มีนายประภัสสร์ มัณฑุสินธุ์ นายอำเภอเมืองสกลนครเป็นผู้เขียนข้อความพินัยกรรมลงในแบบพิมพ์ให้และลงชื่อไว้ในฐานะนายอำเภอ ถือได้ว่านายประภัสสร์เป็นพยานในพินัยกรรมคนหนึ่ง พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์เข้าแบบพินัยกรรมทั่วไป พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพินัยกรรมที่จำเลยอ้างตกเป็นโมฆะตามแบบพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองแล้ว ก็ไม่มีอำนาจพอที่จะวินิจฉัยต่อไปว่าพินัยกรรมสมบูรณ์เข้าแบบพินัยกรรมธรรมดา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองของนายสร้อยหรือเชียงตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารท้ายคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยนั้นมีนายสูนย์ แสงพรหมชาลีลงลายพิมพ์นิ้วมือเป็นพยานคนหนึ่ง และนายเหรียญ กิ่งโก้ลงลายมือชื่อเป็นพยานอีกคนหนึ่ง กับมีนายประภัสสร์ มัณฑุสินธุ์นายอำเภอเมืองสกลนครผู้จัดทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อในฐานะนายอำเภอ ปัญหาวินิจฉัยมีว่าพินัยกรรมดังกล่าวสมบูรณ์เป็นพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 บัญญัติว่าให้ผู้ทำพินัยกรรมไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนี้ไม่รวมถึงกรมการอำเภอด้วย และพยานทั้งสองคนจะต้องลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ มาตรา 1666 บัญญัติว่าบทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสอง และ สามมิให้ใช้บังคับแก่พยานผู้ที่จะต้องลงลายมือชื่อตามมาตรา 1658 ดังนั้นนายสูนย์พยานผู้รับรองลายมือชื่อนายสร้อยหรือเชียงผู้ทำพินัยกรรมจะลงลายพิมพ์นิ้วมือเป็นพยานไม่ได้ แม้จะทำต่อหน้านายประภัสสร์นายอำเภอซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 9 วรรคสี่ การที่นายสูนย์ลงลายพิมพ์นิ้วมือเป็นพยานในพินัยกรรมจึงใช้ไม่ได้ พยานในพินัยกรรมจึงเหลือนายเหรียญเพียงคนเดียวจึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705แต่พินัยกรรมฉบับนี้นายสร้อยหรือเชียงได้ทำต่อหน้านายประภัสสร์นายอำเภอ จึงถือได้ว่านายประภัสสร์เป็นพยานในพินัยกรรมด้วยอีกผู้หนึ่ง โดยไม่จำต้องมีข้อความว่าลงชื่อเป็นพยานอีกฐานะหนึ่ง เมื่อรวมกับนายเหรียญแล้วจึงเป็นพินัยกรรมที่นายสร้อยหรือเชียงทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน อนุโลมเข้าแบบพินัยกรรมธรรมดาตามมาตรา 1656, 136 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1612/2515ระหว่าง นายพา เกาไศยนันท์ กับพวก โจทก์นางบุญแต่ง เกาไศยนันท์ จำเลยที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินตามพินัยกรรมดังกล่าว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน