คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในระหว่างปีภาษี พ.ศ.2500 ถึง 2506 แต่โจทก์ยื่นรายการเงินได้ไม่ถูกต้องต่ำกว่าความจริงและลงรายการไม่ครบถ้วนทำให้จำนวนเงินภาษีเงินได้ขาดไป เจ้าพนักงานประเมินได้ไต่สวนแล้วมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้รวมทั้งเงินเพิ่มของปีดังกล่าวให้โจทก์ชำระ ดังนี้ หนี้ค่าภาษีเงินได้ที่ขาดไปนั้นได้ถึงกำหนดชำระแล้วตั้งแต่วันที่โจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 56,57 จัตวา คือภายในเดือนกุมภาพันธ์ทุก ๆ ปี ที่มีเงินได้พึงประเมินในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมา และเจ้าพนักงานประเมินมี สิทธิเรียกร้องหนี้ค่าภาษีเงินได้ถัดจากวันที่ครบกำหนดชำระเป็นต้นไปคือเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2501
สำหรับเงินได้ระหว่างปีภาษี พ.ศ.2500 และวันที่ 1 มีนาคม ในปีถัดไป สำหรับเงินได้ระหว่างปีภาษี พ.ศ.2501 ถึง 2506 ของแต่ละปีตามลำดับเมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งประเมินภาษีเงินได้ปี พ.ศ.2500,2501 ให้โจทก์ชำระเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2510 และภาษีเงินได้ปี พ.ศ.2502 ถึง2506 เมื่อวันที่ 19กุมภาพันธ์ 2511 ซึ่งนับอายุความตั้งแต่วันที่ เจ้าพนักงานประเมินอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้ถึงวันที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินแล้วยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องค่าภาษีเงินได้จึงไม่ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167
สำหรับภาษีการค้านั้นเมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าสำหรับรายรับเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2502 เดือนธันวาคม 2502 และกันยายน 2503 ภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 84,85 ดังนี้มูลหนี้ค่าภาษีการค้าได้เกิดขึ้นแล้วทุกเดือนภาษีที่โจทก์มีรายรับโดยถือเอาวันที่ 15 ของเดือนถัดไปเป็นวันที่ครบกำหนดชำระภาษีเดือนนั้น ๆ และเจ้าพนักงานประเมินมีสิทธิเรียกร้องหนี้ค่าภาษีการค้าถัดจากวันที่ครบกำหนดชำระเป็นต้นไป เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งประเมินภาษีการค้าให้โจทก์ชำระในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2511 อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าภาษีการค้าภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่เจ้าพนักงานประเมินอาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้และภาษีการค้าโดยโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระ และจำเลยไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องในการเก็บภาษีการค้าและภาษีเงินได้ดังกล่าวจากโจทก์ภายใน 10 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้พิพากษาปลดภาระโจทก์จากการเสียภาษีเงินได้และภาษีการค้าตามแบบแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์

จำเลยให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เกี่ยวกับภาษีเงินได้ประมวลรัษฎากร มาตรา 56 57 จัตวา บัญญัติให้บุคคลผู้มีเงินได้ที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินภายในเดือนกุมภาพันธ์ทุก ๆ ปี ถ้ามีภาษีต้องเสียก็ให้ชำระพร้อมกับยื่นรายการ และภายใน 5 ปีนับแต่วันยื่นรายการ เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุควรเชื่อว่าผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจทำการไต่สวนและแก้จำนวนเงินที่ประเมินหรือที่ยื่นรายการไว้เดิม แล้วแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระอีกไปยังผู้ต้องเสียภาษี โดยอาจต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นซึ่งถือเป็นค่าภาษีอากรด้วย ดังบัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 19, 20, 22, 49 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มีเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในระหว่างปีภาษี พ.ศ. 2500 ถึง 2506 แต่โจทก์ยื่นรายการเงินได้ไม่ถูกต้องต่ำกว่าความจริงและลงรายการไม่ครบถ้วนทำให้จำนวนเงินภาษีเงินได้ขาดไป เจ้าพนักงานประเมินได้ไต่สวนแล้วมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้รวมทั้งเงินเพิ่มของปีดังกล่าวให้โจทก์ชำระตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7 ศาลฎีกาเห็นว่าค่าภาษีเงินได้ที่ขาดไปนั้นได้ถึงกำหนดชำระแล้วตั้งแต่วันที่โจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร คือภายในเดือนกุมภาพันธ์ทุก ๆ ปี ที่มีเงินได้พึงประเมินในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมา และเจ้าพนักงานประเมินสิทธิเรียกร้องหนี้ค่าภาษีเงินได้ถัดจากวันที่ครบกำหนดชำระเป็นต้นไป คือเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2501สำหรับเงินได้ระหว่างปีภาษี พ.ศ. 2500 และวันที่ 1 มีนาคม ในปีถัดไปสำหรับเงินได้ระหว่างปีภาษี พ.ศ. 2501 ถึง 2506 ของแต่ปีตามลำดับคดีนี้เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินภาษีเงินได้ปี พ.ศ. 2500, 2501 ให้โจทก์ชำระเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2510 และภาษีเงินได้ปี พ.ศ. 2502 ถึง 2506 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2511 ซึ่งนับอายุความตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานประเมินอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้ถึงวันที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินแล้วยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องค่าภาษีเงินได้จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167

ส่วนภาษีการค้านั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 84, 85 บัญญัติให้ผู้ประกอบการค้าต้องยื่นแบบแสดงรายการค้า และชำระภาษีการค้าเป็นรายเดือน โดยนำเงินภาษีการค้าไปชำระพร้อมกับยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และในกรณีที่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการค้าภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจไต่สวนประเมินภาษีการค้าและเงินเพิ่ม แล้วแจ้งการประเมินไปยังผู้ประกอบการค้าดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 23, 24, 26, 86 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการค้าสำหรับรายรับเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2502 เดือนธันวาคม 2502 และเดือนกันยายน 2503 ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลฎีกาเห็นว่ามูลหนี้ค่าภาษีการค้าได้เกิดขึ้นแล้วทุกเดือนภาษีที่โจทก์มีรายรับโดยถือเอาวันที่ 15 ของเดือนถัดไปเป็นวันที่ครบกำหนดชำระภาษีเดือนนั้น ๆ และเจ้าพนักงานประเมินสิทธิเรียกร้องหนี้ค่าภาษีการค้าถัดจากวันที่ครบกำหนดชำระเป็นต้นไป คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินภาษีการค้าให้โจทก์ชำระตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2511 เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าภาษีการค้าภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่เจ้าพนักงานประเมินอาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 เช่นกัน

ที่โจทก์ฎีกาว่าภาษีเงินได้และภาษีการค้าที่จำเลยประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ เมื่อนับภาษีในปีสุดท้าย พ.ศ. 2506 ถึงวันที่โจทก์ฟ้อง (วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2518) เกิน 10 ปี ขาดอายุความแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาข้อนี้โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์ และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายืน

Share