แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ตั้งประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องไว้เป็นประเด็นโดยตรงเช่นเดียวกับประเด็นว่าจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่แต่ได้วินิจฉัยประเด็นทั้งสองรวมกันว่า การที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทอันเป็นเช็คผู้ถือแก่ ป. ซึ่งนำไปขายลดแก่โจทก์โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 904 จำเลยย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อความในเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเท่ากับจำเลยไม่มีสิทธินำสืบตามข้อกล่าวอ้าง อันถือได้ว่าคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทในปัญหาดังกล่าวทั้งสองข้อ ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว เพิ่มขึ้นจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2538 และวันที่ 28 ธันวาคม2538 โจทก์ได้รับเช็คจากบุคคลผู้มีชื่อนำมาขายลดแก่โจทก์ สาขาบางซื่อโดยเป็นเช็คธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด สาขานนทบุรี รวม 6 ฉบับโดยมีจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คทั้ง 6 ฉบับ ต่อมาเมื่อเช็คทั้ง 6 ฉบับถึงกำหนด โจทก์นำไปเรียกเก็บ ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีการตกลงกับธนาคารโดยเช็คฉบับที่ 1และที่ 2 ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2539ฉบับที่ 3 ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2539ฉบับที่ 4 ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2539ฉบับที่ 5 ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2539และฉบับที่ 6 ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2539ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน651,668.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 610,920 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์จะแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนหรือไม่จำเลยไม่รับรองและนายอมร จันทรสมบูรณ์ มิใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ หนังสือรับรองเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นเพียงสำเนาโดยเป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากสำเนาสัญญาขายลดเช็คเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ระบุชัดแจ้งว่าผู้ที่ต้องรับผิดตามเช็คทั้ง 6 ฉบับตามฟ้องคือบริษัทประยูรอินเตอร์ฟู้ด จำกัดมิใช่จำเลย ทำให้จำเลยเสียเปรียบและหลงต่อสู้ จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับตามฟ้อง แต่สั่งจ่ายให้แก่บริษัทประยูรอินเตอร์ฟู้ด จำกัดโดยบริษัทประยูรอินเตอร์ฟู้ด จำกัด ยืมเช็คดังกล่าวไปจากจำเลย และตกลงว่าหากเกิดความเสียหายอย่างไร บริษัทประยูรอินเตอร์ฟู้ด จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ โจทก์ต้องฟ้องบริษัทประยูรอินเตอร์ฟู้ด จำกัด มิใช่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาท 1. หนังสือรับรองเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นเอกสารปลอมหรือไม่ 2. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยกำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างนำสืบก่อนในประเด็นข้อ 1 ส่วนประเด็นข้อ 2 เป็นปัญหาข้อกฎหมายศาลวินิจฉัยเองสำหรับที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทจริงแต่สั่งจ่ายให้แก่บริษัทประยูรอินเตอร์ฟู้ด จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ยืมเช็คจากจำเลยไปหากเกิดความเสียหายอย่างไร บริษัทดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบนั้นจำเลยมิได้ต่อสู้ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 บัญญัติไว้ว่าการโอนระหว่างโจทก์กับบริษัทประยูรอินเตอร์ฟู้ด จำกัด เป็นการคบคิดกันฉ้อฉลจึงไม่มีประเด็นตามข้อต่อสู้ของจำเลย จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านขอให้กำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ถูกต้องแล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนการกำหนดประเด็น แต่ให้รับคำคัดค้านติดสำนวนไว้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 610,920 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 102,750 บาท นับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,987 บาท นับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2539เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 99,880 บาท นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 101,240 บาทนับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 100,180 บาท นับแต่วันที่ 21มีนาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 105,883 บาท นับแต่วันที่ 27 มีนาคม2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยทั้งหมดคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2540) ไม่เกิน 40,748.37 บาท
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทตามฟ้องซึ่งเป็นเช็คผู้ถือทั้ง 6 ฉบับ ให้แก่บริษัทประยูรอินเตอร์ฟู้ดจำกัด ต่อมาบริษัทประยูรอินเตอร์ฟู้ด จำกัด นำเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับไปขายลดแก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บ ปรากฏว่าธนาคารตามที่ระบุในเช็คปฏิเสธการจ่ายปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่กำหนดประเด็นข้อพิพาทชอบหรือไม่จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นว่าประเด็นข้อพิพาทควรจะเป็นว่า 1. โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ 2. ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่3. จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาว่า ตามคำให้การจำเลยได้ให้การแจ้งชัดว่าเช็คพิพาทตามฟ้องจำเลยให้บุคคลภายนอกยืมไปไม่มีมูลหนี้ ทั้งจำเลยมิได้สลักหลังเพื่อประกันความรับผิด ดังนั้น บุคคลภายนอกจึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาท การที่โจทก์รับเช็คพิพาทจากบุคคลภายนอกโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คตามมาตรา 904 เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ตั้งประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องข้อนี้ไว้เป็นประเด็นโดยตรงเช่นเดียวกับประเด็นข้อที่ว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่แต่ก็ได้วินิจฉัยประเด็นทั้งสองข้อรวมกันไปโดยวินิจฉัยว่า การที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับแก่บริษัทประยูรอินเตอร์ฟู้ด จำกัดซึ่งนำไปขายลดแก่โจทก์ เมื่อเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับเป็นเช็คผู้ถือ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 904 และจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ ย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อความในเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 900 วรรคหนึ่ง 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เท่ากับจำเลยไม่มีสิทธินำสืบตามข้อกล่าวอ้าง อันถือได้ว่าคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทในปัญหาดังกล่าวทั้งสองข้อ การที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวเพิ่มขึ้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน