คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 358/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เมื่อล่วงเลยกำหนดอายุอุทธรณ์แล้วว่า ความผิดคดีนี้เกิดขึ้นใน เขตศาลจังหวัดลำพูนและเขตศาลจังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องที่ศาลอาญา ปัญหานี้แม้ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้แต่ เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยได้
เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดลำพูน จับจำเลย ที่ 2 ที่กรุงเทพมหานคร ได้ในวันเดียวกันพร้อมด้วย มอร์ฟีนของกลาง ต่อมาจับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้ที่ จังหวัดเชียงใหม่ พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้ตั้งข้อหาว่า จำเลยร่วมกันมีมอร์ฟีนไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย และได้ทำการสอบสวนความผิดที่ถูกกล่าวหานี้แล้วที่ กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ ศาลอาญาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันมีมอร์ฟีนจำนวน 4 แท่งอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 3 ได้จำหน่ายมอร์ฟีนดังกล่าวให้แก่ผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้พร้อมกับยึดมอร์ฟีน 4 แท่ง กาวกระป๋องและรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ข – 2510 กรุงเทพมหานคร เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7(2),8, 17, 69, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 และริบของกลาง

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ ศาลสั่งให้แยกฟ้องเป็นคดีใหม่

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7(2), 17,69 ให้จำคุกตลอดชีวิต ลดรับสารภาพแล้วคงจำคุก 33 ปี 4 เดือนของกลางริบ

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าความผิดคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดลำพูนและศาลจังหวัดเชียงใหม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องที่ศาลอาญา เห็นว่า ปัญหานี้จำเลยที่ 1 ได้ยื่นเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะยื่นขอเพิ่มเติมอุทธรณ์เมื่อล่วงเลยกำหนดอายุอุทธรณ์แล้วจึงถือว่าปัญหานี้มิได้ยกขึ้นว่ากันในศาลอุทธรณ์ แต่เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 จึงยกขึ้นฎีกาได้ พิเคราะห์แล้ว เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ในวันเดียวกันพร้อมด้วยยึดได้มอร์ฟีน 4 แท่งเป็นของกลางโดยจับจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดลำพูน จับจำเลยที่ 2 ที่กรุงเทพมหานครต่อมาจับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่จังหวัดเชียงใหม่ พนักงานสอบสวนกองปราบปราม กรมตำรวจ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากอธิบดีกรมตำรวจได้สอบสวนคดีนี้โดยตั้งข้อหาว่าจำเลยร่วมกันมีมอร์ฟีนของกลางไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 2 ในท้องที่กรุงเทพมหานคร และพนักงานสอบสวนในท้องที่ดังกล่าวได้ทำการสอบสวนความผิดที่ถูกกล่าวหานี้แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลอาญาให้ชำระคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22(1)

พิพากษายืน

Share