แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 อีกบทหนึ่ง จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า เพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6),80 มิใช่มาตรา 289(7) ซึ่งเป็นการฆ่าเพราะได้กระทำความผิดอื่นมาแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,90, 289(6)(7), 297, 339, 340 ตรี พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายจำนวน 10,000 บาทจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6)(7), 80, 397, 339 วรรคสี่ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้วางโทษตามมาตรา 289(6)(7), 80 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต คำรับชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตลอดจนการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 10,000 บาท แก่ฝ่ายผู้เสียหายด้วยโจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่ลดโทษ หากลดโทษก็ไม่ควรเกินหนึ่งในห้าจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องโดยไม่ลดโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงมีเหตุผลสอดคล้องต้องกันฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายนั้นเป็นเจตนาฆ่ามิใช่เจตนาทำร้าย จำเลยจึงไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 การที่จำเลยยิงผู้เสียหายเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดตามมาตรา 289(6), 80 แต่มิใช่ (7)ซึ่งเป็นการฆ่าเพราะได้กระทำความผิดอื่นมาแล้ว จำเลยจึงไม่ผิดตามอนุมาตรานี้ ส่วนปัญหาว่าควรลดโทษให้แก่จำเลยหรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่าจำเลยให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุม และชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ควรลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา289(6), 80, 339 วรรคสี่, 340 ตรี แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา289(6), 80 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือนให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 10,000 บาท แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้เสียหายด้วย