คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3551/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ส.เป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์ และมีอำนาจที่จะมอบอำนาจให้พนักงานของธนาคารโจทก์กระทำการใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับธนาคารโจทก์ส.ได้มอบอำนาจให้ ป. รองผู้จัดการมีอำนาจกระทำการบอกกล่าว ทวงถาม เรียกเก็บหนี้สิน ฟ้องคดีแพ่ง และต่อสู้คดีทั้งปวงแทนได้ และมีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงเพื่อกระทำการดังกล่าวได้ และ ป.ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ อ. และหรือ ค.ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม เมื่อการมอบอำนาจของโจทก์เป็นไปโดยต่อเนื่องไม่ขาดสาย การฟ้องและดำเนินคดีของโจทก์จึงชอบแล้ว
คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์กับเดินสะพัดทางบัญชีกัน โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ นอกจากนี้ยังระบุถึงรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและวันที่คิดดอกเบี้ยในแต่ละอัตราต่าง ๆ และระบุยอดหนี้คิดถึงวันที่ 31ธันวาคม 2534 เป็นเงิน 128,931,527.86 บาท คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน12,169,017.73 บาท รวมเป็นหนี้ 141,100,555.59 บาท จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จอันเป็นรายละเอียดที่แสดงถึงสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโดยแจ้งชัดแล้ว ส่วนรายละเอียดหรือเอกสารเกี่ยวกับการคิดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความชอบที่จะนำสืบพิสูจน์พยานหลักฐานกันในชั้นพิจารณาได้ แม้คำฟ้องโจทก์ไม่ระบุรายละเอียดหรือเอกสารดังกล่าวมา ก็หาทำให้เป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่
ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับสุดท้ายซึ่งเป็นสัญญาที่ใช้ประกอบกับสัญญาบัญชีเดินสะพัดได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2527 กำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืนแก่โจทก์ภายใน 1 ปี สัญญาจึงย่อมสิ้นสุดลงในวันที่ 2 เมษายน 2528 เว้นแต่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะได้ตกลงต่อสัญญากันต่อไป แต่ไม่ปรากฏว่ามีการต่อสัญญาแต่อย่างใด อีกทั้งหลังวันที่ 2 เมษายน 2528 ซึ่งสัญญาสิ้นสุดลง โจทก์ก็ไม่ยินยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีหรือเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกต่อไป สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว มิใช่สิ้นสุดเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2534 โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยจากยอดหนี้ที่ค้างชำระ ณ วันสิ้นสุดสัญญาโดยไม่ทบต้น หามีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันบอกเลิกสัญญาไม่
โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและเดินสะพัดทางบัญชีกันตั้งแต่ปี 2522 เป็นหนี้ผูกพันกันตลอดมาจนถึงปี 2527 แล้วตกลงทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกันต่อไปอีก และเดินสะพัดทางบัญชีต่อมาจนสิ้นสุดเมื่อวันที่ 2เมษายน 2528 ซึ่งสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี และตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ปรากฏว่าจำเลยได้นำเงินเข้าชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2527จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2533 ชำระครั้งสุดท้ายจำนวน 5,000,000 บาท อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(1) เมื่อนับอายุความใหม่จนถึงวันฟ้องวันที่ 30 กรกฎาคม 2535 ยังไม่เกิน 10 ปี สำหรับสิทธิเรียกร้องในต้นเงินค้างชำระ และไม่เกิน 5 ปี สำหรับดอกเบี้ยค้างชำระ ดังนี้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวทั้ง 2 กรณีจึงไม่ขาดอายุความ
แม้โจทก์จะทำหนังสือมอบอำนาจให้ อ.บอกกล่าวบังคับจำนองหรือไม่ก็ตาม แต่การบอกกล่าวบังคับจำนองตาม ป.พ.พ.มาตรา 728 บังคับให้ทำเป็นหนังสือเท่านั้น มิได้กำหนดเป็นแบบไว้แต่อย่างใด เมื่อ อ.ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่ไม่ชำระหนี้และต่อมาโจทก์ได้ฟ้องบังคับจำนอง ถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันการบอกกล่าวบังคับจำนอง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 823 แล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์เป็นไปโดยชอบ มิได้ตกเป็นโมฆะ
ตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 3 ยอมรับว่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันทุกฉบับ และข้อความในสัญญาก็ระบุชัดว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จึงเป็นการแสดงฐานะของจำเลยที่ 3 ไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าค้ำประกันในฐานะส่วนตัว หาใช่จำเลยที่ 3 อ้างว่าลงลายมือชื่อในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่ อีกทั้งจำเลยที่ 3 ก็ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันจำเลยที่ 1 ด้วย ส่วนเรื่องการบอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อโจทก์บอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 686 ดังนั้น จำเลยที่ 3 จะได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามหรือไม่ ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิด
ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในต้นเงินจำนวน 63,200,000 บาท ซึ่งเป็นการค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี และยอดหนี้ของจำเลยที่ 1 อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการนำเงินเข้าและถอนออกในบัญชี ช่วงเวลาใดที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ครบวงเงินค้ำประกันผู้ค้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดเต็มวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่มีการเบิกถอนเงินเต็มวงเงินค้ำประกันเป็นต้นไป แต่หากต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นนำเงินชำระหนี้หักทอนบัญชีจนเป็นหนี้ต่ำกว่าวงเงินค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระแล้ว คงรับผิดเท่าวงเงินที่เหลือจนกว่าจะมีการเบิกถอนเงินจนเต็มวงเงินค้ำประกันใหม่ ผู้ค้ำประกันจึงจะรับผิดเต็มตามวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนั้นอีก ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดเต็มวงเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันใด จึงต้องพิจารณาในวันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มวงเงินค้ำประกันครั้งสุดท้าย เมื่อปรากฏว่าครั้งสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มวงเงินตามสัญญาค้ำประกันคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 ดังนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นให้แก่โจทก์ นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไปแต่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงในวันที่ 2 เมษายน2528 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 1พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 2 เมษายน 2528 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาเท่านั้น หลังจากนั้นเสียดอกเบี้ยไม่ทบต้นจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ต้องคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราเดียวกับจำเลยที่ 1 และต้องนำเงินฝากในช่วงเวลาดังกล่าวตามรายการในการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมาหักทอนบัญชีคำนวณยอดหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

Share