แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.ฎ. กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี – สมุทรสาคร – สมุทรสงคราม – ปากท่อ พ.ศ. 2508 ออกตามความใน พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2482 มาตรา 56 กำหนดให้ท้องที่อำเภอต่าง ๆ รวมทั้งอำเภอเมืองสมุทรสาครซึ่งที่ดินของโจทก์ตั้งอยู่เป็นแนวเขตทางหลวง และต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี – สมุทรสาคร – สมุทรสงคราม – ปากท่อ ในท้องที่อำเภอราษฎร์บูรณะ ฯลฯ ให้แก่จำเลย โดยถือว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามความในมาตรา 41 และ มาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2482 แต่ต่อมามีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ให้ยกเลิก พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2482 และให้ใช้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้แทนซึ่งข้อ 87 วรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติในส่วนที่ 3 มาใช้บังคับแก่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังดำเนินอยู่ในวันประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ และวรรคสองบัญญัติว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 โดยมีบทบัญญัติในมาตรา 7 ให้ยกเลิกความในส่วนที่ 3 การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงข้อ 63 ถึงข้อ 80 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ในกรณีของโจทก์ขณะที่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับ ขั้นตอนการดำเนินการเวนคืนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ยังไม่เสร็จสิ้น เพราะฝ่ายจำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนรวมทั้งโจทก์ ดังนั้น การดำเนินการต่อไปตั้งแต่การมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนก็ดี การแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนก็ดี การอุทธรณ์ค่าทดแทนก็ดี กำหนดระยะเวลาที่โจทก์ต้องนำคดีมาร้องฟ้องต่อศาล ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ต่อไปที่เกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ก็ดีต้องบังคับตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวข้างต้นหมายความว่า การเวนคืนและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์อันเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ประกาศใช้บังคับย่อมเป็นอันใช้ได้แต่การดำเนินการต่อไปต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวรคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530
พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักเกณฑ์ในการนำคดีมาฟ้องต่อศาล เมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนยังไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนไว้เป็น 2 กรณี กรณีแรกรัฐมนตรีได้วินิจฉัยเสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่ได้รับคำอุทธรณ์ตามมาตรา 25 วรรคสอง ซึ่งผู้อุทธรณ์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี และในกรณีที่สองที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง กำหนดเวลาฟ้องคดีภายในหนึ่งปีจะเริ่มนับแต่วันที่พ้นหกสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ คดีนี้เป็นกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ (วันที่ 15 ตุลาคม 2535) ดังนั้น สิทธิของโจทก์ในการดำเนินคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปี จึงเริ่มนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดดังกล่าวคือวันที่ 15 ธันวาคม 2535 จนถึง 15 ธันวาคม 2536 โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2538 เกินกว่า 1 ปีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ อำนาจในการฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นอันหมดสิ้นไป
กำหนดเวลาฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 26 วรรคหนึ่งเป็นกำหนดเวลาใช้สิทธิฟ้องคดี มิใช่อายุความอันจะเป็นเหตุให้กำหนดเวลาการใช้สิทธิฟ้องคดีสะดุดหยุดลงและเริ่มต้นนับใหม่ได้
การเวนคืนเพื่อตัดทางหลวงสายนี้ทำให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นจากเดิมมาก ทั้งเนื้อที่ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีมากกว่าเนื้อที่ที่ดินที่ถูกเวนคืนเกิน 4 เท่า แม้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากเวนคืนมีราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมเพียงเล็กน้อยแค่ 1 ใน 4 ส่วนเท่านั้น ก็จะมีราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนแล้ว ตามบทกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนให้เอาราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนในส่วนที่มีราคาสูงขึ้นจากเดิมมาหักออกจากเงินค่าทดแทน ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน แม้ฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปตกลงราคาเพื่อรับเงินค่าทดแทนที่ดินตารางวาละ 5 บาท ภายหลังจากที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนมาเป็นเวลานานแล้ว ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายดังกล่าวโจทก์ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินอยู่แล้ว เมื่อไม่มีความเสียหายจึงไม่เป็นละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนพร้อมทั้งค่าขาดประโยชน์รายได้ให้โจทก์เป็นเงิน 64,190,000 บาท หรือค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นจำนวน 3,688,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2515 คิดถึงวันฟ้องเป็นค่าดอกเบี้ย 6,120,975 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 64,190,000 บาท หรือต้นเงิน 3,668,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,751,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2508 เป็นต้นไป ให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชดใช้เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องร้องภายในกำหนดระยะเวลาหรือไม่ เห็นว่า แม้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี – สมุทรสาคร – สมุทรสงคราม – ปากท่อ พ.ศ. 2508 ออกตามความใน พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2482 มาตรา 56 กำหนดให้ท้องที่อำเภอต่าง ๆ รวมทั้งอำเภอเมืองสมุทรสาครซึ่งที่ดินของโจทก์ตั้งอยู่เป็นแนวเขตทางหลวง และต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2515 ให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อ ในท้องที่อำเภอราษฎร์บูรณะฯลฯ ให้แก่จำเลย โดยถือว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามความในมาตรา 41 และ มาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2482 แต่ต่อมามีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ให้ยกเลิก พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2482 และให้ใช้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้แทนซึ่งข้อ 87 วรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติในส่วนที่ 3 มาใช้บังคับแก่การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังดำเนินอยู่ในวันประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ และวรรคสองบัญญัติว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันใช้ได้ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 โดยมีบทบัญญัติในมาตรา 7 ให้ยกเลิกความในส่วนที่ 3 การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงข้อ 63 ถึงข้อ 80 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ในกรณีของโจทก์ขณะที่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับขั้นตอนการดำเนินการเวนคืนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ยังไม่เสร็จสิ้น เพราะฝ่ายจำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนรวมทั้งโจทก์ ดังนั้น การดำเนินการต่อไปจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวข้างต้น หมายความว่า การเวนคืนและการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์อันเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ที่ได้ปฏิบัติไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ประกาศใช้บังคับย่อมเป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไปตั้งแต่การมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนก็ดี การแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนก็ดี การอุทธรณ์ค่าทดแทนก็ดี กำหนดระยะเวลาที่โจทก์ต้องนำคดีมาร้องฟ้องต่อศาล ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ต่อไปที่เกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ก็ดี ต้องดำเนินตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ทั้งสิ้น
พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี” ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เมื่อพิเคราะห์ประกอบมาตรา 25 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์แล้ว กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ในการนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีไว้ 2 กรณี คือกรณีแรกเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น กรณีที่สองเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันรับอุทธรณ์กรณีเช่นนี้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปีนับแต่วันพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ คดีนี้เป็นกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ (วันที่ 15 ตุลาคม 2535) ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 วรรคสอง ดังนี้ สิทธิของโจทก์ในการนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปี จึงเริ่มนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดดังกล่าวคือวันที่ 15 ธันวาคม 2535 ไปจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2536 โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2538 เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดที่รัฐมนตรีต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ อำนาจในการฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นอันหมดสิ้นไป ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 ทั้งกำหนดระยะเวลาที่ผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีจะฟ้องร้องคดีต่อศาลดังกล่าวก็เป็นเพียงกำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิมิใช่อายุความ ดังนั้น การที่กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือลงวันที่ 31 มกราคม 2537 แจ้งให้โจทก์ทราบในภายหลังว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้เพิ่มค่าทดแทนที่ดินของโจทก์จากไร่ละ 2,000 บาท เป็นไร่ละ 9,688 บาท และจำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2537 ว่าจำเลยได้วางเงินค่าทดแทนดังกล่าวไว้ที่ธนาคารออมสินให้โจทก์ไปรับเงินดังกล่าว จึงหาทำให้กำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิดังกล่าวสะดุดหยุดลงและเริ่มต้นนับใหม่ดังที่โจทก์ฎีกาไม่
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินของโจทก์ถูกกำหนดเป็นแนวทางหลวงตาม พ.ร.ฎ. กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี – สมุทรสาคร – สมุทรสงคราม – ปากท่อ พ.ศ. 2508 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2482 และ ถูกเวนคืนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 225 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2515 ซึ่งมีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกในตามความในมาตรา 41 และมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2482 กฎหมายแม่บทในการดำเนินการเวนคืนที่ดินของโจทก์ในขณะนั้นคือ พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2482 ซึ่งมาตรา 55 บัญญัติว่า “ในการคำนวณเงินค่าทำขวัญให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ถ้ามีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าทรัพย์สินที่ เหลืออยู่ของผู้นั้น มีราคาสูงขึ้นหรือไม่ เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าทรัพย์สินนอกเขตที่ห้ามจำหน่ายตามมาตรา 46 ยังคงเป็นของเจ้าของเดิม แม้จะได้จำหน่ายไปแล้ว ถ้าการจำหน่ายไปนั้นได้จำหน่ายภายหลังที่ได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา ซึ่งออกตามความในส่วนที่ 2 แห่งพระราชบัญญัตินี้” กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในขณะนั้นคือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ซึ่งมาตรา 14 บัญญัติว่า “
ถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนได้กระทำให้ทรัพย์สินที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้นเป็นพิเศษในขณะนั้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักกับค่าทดแทน แต่ไม่ให้ถือว่าราคาทรัพย์สินที่ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนเพื่อจะให้เจ้าของทรัพย์สินต้องกลับไปใช้เงินให้อีก” ในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายธนบุรี – สมุทรสาคร – สมุทรสงคราม – ปากท่อ พ.ศ. 2508 มีผลใช้บังคับนั้น ที่ดินโฉนดเลขที่ 7929 เนื้อที่ 23 ไร่ 3 งาน 16.2 ตารางวา ทิศเหนืออยู่ติดทางสาธารณประโยชน์ทิศใต้ติดแพรกสาธารณประโยชน์ มีราคาประเมินตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามตลาดเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปี 2509 ตารางวาละ 5 บาท ถูกเวนคืนเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา ทำให้ที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีด้านหนึ่งอยู่ติดทางหลวงสายนี้ สภาพที่ดินของโจทก์มีเหลือจากการเวนคืนทั้งสองส่วนนี้เปลี่ยนเป็นที่ดินที่อยู่ติดทางหลวงขนาดใหญ่สายหลักซึ่งผ่านพื้นที่ของสี่จังหวัด สภาพที่ดินดังกล่าวจึงดีขึ้นกว่าเดิมมากย่อมเห็นประจักษ์ได้ว่าการเวนคืนเพื่อตัดทางหลวงสายนี้ทำให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นจากเดิมมาก ทั้งที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีเนื้อที่ 19 ไร่ 81.8 ตารางวา มากว่าเนื้อที่ที่ดินที่ถูกเวนคืนเกิน 4 เท่า แม้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากเวนคืนมีราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมเพียงเล็กน้อยแค่ 1 ใน 4 ส่วนเท่านั้น ก็จะมีราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนแล้ว ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นให้เอาราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนในส่วนที่มีราคาสูงขึ้นจากเดิมมาหักออกจากเงินค่าทดแทน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน ดังนั้น แม้ฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือถึงโจทก์ ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ขอให้ไปตกลงราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเขตทางหลวง โดยแจ้งว่าคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 5 บาท รวมเป็นเงิน 9,170 บาท ให้โจทก์ไปตกลงราคาเพื่อรับเงินค่าทดแทนดังกล่าว ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะตามหลักเกณฑ์ของบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินอยู่แล้ว เมื่อไม่มีความเสียหายจึงไม่เป็นละเมิด
พิพากษายืน.