คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาเช่าทรัพย์สินระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมผู้ให้เช่ากับโจทก์ผู้เช่าระบุว่าโจทก์มีหน้าที่ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนผู้ให้เช่า การที่จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับชำระค่าภาษีดังกล่าวจากโจทก์ ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน หากจำเลยที่ 1 เรียกเก็บภาษีดังกล่าว เกินไปจำเลยที่ 1 ก็หามีสิทธิที่จะยึดเงินส่วนที่เกินไว้โดยไม่คืนให้แก่ผู้มีสิทธิในเงินจำนวนนั้นไม่ เมื่อโจทก์เป็นผู้ชำระเงินส่วนที่อ้างว่าเกินนั้น โจทก์ย่อมเรียกเงินส่วนนี้คืนได้แม้ว่าโจทก์จะไม่เป็นผู้รับประเมินและไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ด้วยอำนาจแห่งสิทธิของโจทก์เองกรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องแทนผู้ให้เช่าโจทก์จึงไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำการประเมินค่ารายปีโดยใช้ หลักเกณฑ์เทียบเคียงกับอาคารที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งใช้ประโยชน์ คล้ายคลึงกันและมีทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกันคือ เทียบเคียงกับโรงเรือนซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 300 เมตรโดยคำนึงถึงค่ารายปีในปี 2537 ด้วยแล้วจึงประเมินพื้นที่อาคารสำนักงานและลายจอดรถ ซึ่งราคาประเมินลายจอดรถยังต่ำกว่าของอาคารที่อยู่ใกล้เคียงดังกล่าว สำหรับป้อมยาม โรงอาหารโรงไฟฟ้า รวมทั้งพื้นที่ต่อเนื่องกับอาคารไม่มีการประเมินเพิ่มทั้งนี้ได้คำนึงถึงดรรชนีราคาผู้บริโภคของทางราชการประกอบสภาพทางเศรษฐกิจอีกด้วย ค่ารายปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ประเมินไว้เป็นเงินค่ารายปีอันสมควร และมิได้สูงกว่าค่าเช่าที่อาจให้เช่าได้ในปี 2538 การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2538 ของจำเลยที่ 1 และค่าชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ตามฟ้องบางส่วนโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินภาษีที่เรียกเก็บสูงเกินไปจำนวน 29,467.50 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่าการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2538ของจำเลยที่ 1 เล่มที่ 3 เลขที่ 12 จำนวน 2 ฉบับ และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เล่มที่ 16 เลขที่ 59 ลงวันที่31 ตุลาคม 2538 เฉพาะการประเมินค่ารายปีโรงเรือนพิพาทในส่วนที่เป็นพื้นที่สำนักงานและลายจอดรถยนต์ และให้จำเลยทั้งสองคืนเงินภาษีส่วนที่เกิน จำนวน 29,467.50 บาท แก่โจทก์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ถ้าไม่คืนภายในกำหนดดังกล่าวให้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันครบกำหนดสามเดือนในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทจึงต้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 25 คงอุทธรณ์ได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ประกอบมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เช่ากิจการโรงงานสุราบางยี่ขันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งโรงเรือนและที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งตามสัญญาเช่า ตั้งอยู่เลขที่ 57 ถนนพระสุเมรุ แขวงชนะสงคราม เขตพระนครกรุงเทพมหานคร ค่าเช่าเดือนละ 12,258.33 บาท ตั้งแต่ปี 2523ถึงปี 2537 เดิมปี 2537 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีเป็นเงิน 3,242,820 บาท คิดภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 405,352.50 บาท ครั้นปี 2538 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีเป็นเงิน 3,478,560 บาทคิดภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 434,820 บาท สูงกว่าปีที่แล้วมาเป็นเงิน 29,467.50 บาท โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินค่ารายปีขึ้นใหม่เพราะโจทก์ได้รับประโยชน์จากการต่ออายุสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันต่อไปอีก 5 ปี นับแต่ปี2538 และโดยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบกับโรงเรือนรายอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกันคือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาบางลำภูโจทก์ซึ่งจะต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามสัญญาเช่า จึงได้ชำระค่าภาษีดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว และได้ขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จำเลยที่ 2 พิจารณาคำร้องของกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว มีคำชี้ขาดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมชำระค่าภาษีตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าตามกฎหมายกำหนดให้เจ้าของโรงเรือนเป็นผู้รับประเมินมีหน้าที่ชำระหรือเป็นผู้รับผิดในหนี้ภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนนั้น การที่ให้บุคคลซึ่งมีข้อตกลงชำระหนี้แทนลูกนี้มีอำนาจกระทำการใด ๆ หรือใช้สิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายแทนลูกหนี้ได้ทุกกรณีแม้แต่การฟ้องคดีย่อมขัดกับหลักกฎหมาย เพราะข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ผูกพันเพียงคู่สัญญาเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสิทธิหน้าที่ในหนี้ภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติไว้และไม่มีผลทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีนี้ ทั้งโจทก์มิได้รับมอบอำนาจจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และไม่ได้ใช้สิทธิในนามของกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วยนั้น เห็นว่าตามสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน ฉบับ พ.ศ. 2523 ถึง 2537 ระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมกับโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 44 ระบุว่า โจทก์ผู้เช่ามีหน้าที่ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมผู้ให้เช่า และจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับชำระค่าภาษีดังกล่าวจากโจทก์แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน หากจำเลยที่ 1เรียกเก็บภาษีดังกล่าวเกินไป จำเลยที่ 1 ก็หามีสิทธิที่จะยึดเงินส่วนที่เกินไว้โดยไม่คืนให้แก่ผู้มีสิทธิในเงินจำนวนนั้นไม่เมื่อโจทก์เป็นผู้ชำระเงินส่วนที่อ้างว่าเกินนั้น โจทก์ย่อมเรียกเงินส่วนนี้คืนได้ แม้ว่าโจทก์จะไม่เป็นผู้รับประเมินและไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สิน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ด้วยอำนาจแห่งสิทธิของโจทก์เอง กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมผู้ให้เช่า โจทก์ไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือฟ้องในนามกรมโรงงานอุตสาหกรรมแต่อย่างใดอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของจำเลยทั้งสองมีว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า ตามข้อสัญญาในสัญญาเช่าปรากฏว่านอกจากโจทก์จะต้องชำระค่าเช่าให้แก่กระทรวงการคลังเป็นเงินเดือนละ 12,258.33 บาทตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 43 (ตรงกับ6.2 แผ่นที่ 37) แล้ว โจทก์ยังต้องชำระค่าเช่าให้แก่กรมโรงงานอุตสาหกรรมตามสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน ฉบับ พ.ศ. 2523 ถึง 2537 เอกสารหมาย ล.3 ข้อ 28 สำหรับสองปีแรกในอัตราปีละ 55,000,000 บาท ปีต่อ ๆ ไปปีละ60,000,000 บาท กับต้องสร้างโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตไม่ต่ำกว่า 700,000,000 บาทให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2524 และขยายการผลิตโดยการสร้างโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตขึ้นอีกเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 200,000,000 บาท ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2532 และให้บรรดาทรัพย์สินสิ่งที่ได้จัดทำสร้าง ประกอบ และติดตั้งตามสัญญาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามสัญญาข้อ 11(1)(2)(3) และ 12 ด้วยดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่านอกจากค่าเช่าแล้วโจทก์ยังต้องให้ประโยชน์แก่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อตอบแทนการให้เช่าอีกเป็นจำนวนมิใช่น้อย แสดงว่าค่าเช่าโรงเรือนและที่ดินรายพิพาทที่แท้จริงย่อมจะต้องสูงกว่าเดือนละ 12,258.33 บาท ฉะนั้นจะถือเพียงค่าเช่าตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเดือนละ 12,258.33 บาทดังกล่าวเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีหาได้ไม่ การที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนพิพาทมาตลอดทุกปีโดยอ้างว่าคิดค่าเช่าเพียงปีละ 147,100 บาทและเมื่อมีการต่ออายุสัญญาเช่าอีก 5 ปี ค่าเช่าก็ยังคงเท่าเดิม จึงมีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เห็นว่า ค่าเช่าดังกล่าวมิใช่ค่าเช่าอันถูกต้องครบถ้วนแท้จริง ถือไม่ได้ว่าเป็นจำนวนเงินอันสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ย่อมมีอำนาจประเมินค่ารายปีเพิ่มเสียใหม่ได้ตามมาตรา 8 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ส่วนปัญหาว่าค่ารายปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินขึ้นใหม่จำนวน3,478,560 บาท เป็นค่ารายปีที่สูงกว่าค่าเช่าที่อาจให้เช่าได้ในปีภาษี 2538 หรือไม่นั้น คดีนี้ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจประเมินค่ารายปีโรงเรือนและที่ดินพิพาทใหม่การประเมินไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองได้สืบพยานทั้งสองฝ่ายสิ้นสุดแล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปเสียเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาใหม่ และเห็นว่าโรงเรือนพิพาทพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเท่ากันมาแล้ว 3 ปีคือ ปี 2535 ถึงปี 2537 อีกทั้งโจทก์ได้รับประโยชน์จากการต่ออายุสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันต่อไปอีก 5 ปี นับแต่ปี 2538 โดยหนังสือสัญญาเช่าที่ดินระบุว่าเงื่อนไขและข้อตกลงอื่น ๆ ให้เป็นไปตามสัญญาเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันฉบับ พ.ศ. 2523 ถึง 2537 ซึ่งโจทก์มีสิทธิจำหน่ายสุราที่ผลิตตามสัญญาได้ทั่วราชอาณาจักรย่อมเห็นได้แจ้งชัดว่า ค่าเช่ากำหนดไว้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นตามความเป็นจริงประกอบกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำการประเมินค่ารายปีโดยใช้หลักเกณฑ์เทียบเคียงกับอาคารที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งใช้ประโยชน์คล้ายคลึงกันและมีทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน คือ เทียบเคียงกับโรงเรือนของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาบางลำภู ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 300 เมตร โดยคำนึงถึงค่ารายปีในปี 2537 ด้วยแล้วจึงประเมินพื้นที่อาคารสำนักงานตารางเมตรละ 45 บาทต่อเดือนและลานจอดรถตารางเมตรละ 15 บาทต่อเดือน ซึ่งราคาประเมินลานจอดรถยังต่ำกว่าของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาบางลำภูสำหรับป้อมยาม โรงอาหาร โรงไฟฟ้า รวมทั้งพื้นที่ต่อเนื่องกับอาคารไม่มีการประเมินเพิ่ม ทั้งนี้ได้คำนึงถึงดรรชนีราคาผู้บริโภคของทางราชการประกอบสภาพทางเศรษฐกิจอีกด้วย ถือได้ว่าค่ารายปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินไว้จำนวน 3,478,560 บาท เป็นเงินค่ารายปีอันสมควร และมิได้สูงกว่าค่าเช่าที่อาจให้เช่าได้ในปี 2538 การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2ย่อมชอบด้วยกฎหมายด้วย จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share