แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานที่ดินไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามคำสั่งศาลเพราะเห็นว่าไม่อาจทำได้ตามกฎหมาย มิใช่เพราะมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อน ยังไม่พอจะถือว่าเจ้าพนักงานที่ดินนั้นจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินที่มีโฉนด ที่ดินโฉนดที่ 1231 ซึ่งเดิมเป็นของมารดาโจทก์ถูกเวนคืนเมื่อปี 2487 ต่อมามารดาโจทก์วายชนม์ โจทก์ทั้ง 3 รับมรดก และเนื่องจากทางการมิได้กระทำกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคในที่ดินที่เวนคืนไป โจทก์จึงฟ้องกระทรวงกลาโหมเป็นจำเลยจนศาลฎีกาพิพากษาให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ทะเบียนหลังโฉนดให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ขอให้ศาลสั่งจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินการตามคำพิพากษา แต่จำเลยที่ 1 แจ้งศาลว่าโอนให้โจทก์ไม่ได้ตามมาตรา 32แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ศาลแพ่งได้แจ้งยืนยันไปให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม2496 ครั้นต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2503 มีประกาศใช้พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ ให้แก่เจ้าของเดิม โจทก์จึงขอให้ศาลสั่งจำเลยที่ 1 ดำเนินการตามคำพิพากษาต่อไป แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ยอมจัดการโอนให้ แต่จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ว่าเมื่อเจ้าของเดิมวายชนม์ ต้องดำเนินการตามประกาศมรดก มิใช่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยทั้ง 2 อีกคดีหนึ่งขอให้จัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลงชื่อโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามคำพิพากษา จนศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยจัดการจดทะเบียนให้ โจทก์เพิ่งได้รับโอนโฉนดดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2506 จำเลยที่ 1 จงใจขัดขวางไม่ยอมทำนิติกรรมโอนให้ เป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ จำเลยที่ 1 อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 2ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อศาลแพ่งมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1ปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ขอผัดให้ออกกฎหมายเวนคืนเสียก่อนและเมื่อมีประกาศใช้พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของเดิม จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าเมื่อเจ้าของเดิมวายชนม์ไปแล้ว ก็ให้ทายาทมาขอจดทะเบียนเมื่อโจทก์ได้ฟ้องจำเลยและศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วจำเลยมิได้ใช้อำนาจหน่วงเหนี่ยวขัดขวางด้วยความจงใจ แต่กระทำด้วยความสุจริตใจ โดยมีเหตุผลว่าจำเลยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะกระทำได้ ฯลฯ ขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยนำสืบแสดงได้ว่าโจทก์จำเลยไม่มีอริ สาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน การที่จำเลยมิได้โอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้โจทก์ เพราะจำเลยเห็นว่าที่พิพาทได้ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 32 บัญญัติว่า การส่งทรัพย์เวนคืนนั้น ใช้บังคับตามมาตรา 1305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งบัญญัติว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาจำเลยที่ 1 ได้แจ้งความเห็นนี้ให้ศาลทราบแล้ว แม้ศาลจะได้มีหนังสือแจ้งมาอีกว่าจำเลยที่ 1 ชอบที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่โจทก์ทิ้งเรื่องไว้เองประมาณ 6 ปี จนมีประกาศใช้พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ฯ พ.ศ. 2503 โจทก์จึงดำเนินการในเรื่องนี้ขึ้นใหม่การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแล้ว ยังไม่ชอบที่จะถือได้ว่า จำเลยที่ 1 จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหาย จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในความเสียหายตามฟ้อง
พิพากษายืน