คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้ยินยอมให้จำเลยไปไถ่จำนองที่ดินของโจทก์จากนางประหยัดสุวเทพ เพื่อจะได้นำไปค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยจากธนาคาร แต่จำเลยบังอาจทุจริตนำที่ดินโจทก์ซึ่งไถ่จำนองแล้วไปขายให้นายวรเทพ ลิ้มรสสุขแล้วเบียดบังเอาเงินค่าขายไว้เป็นประโยชน์ส่วนตนเสียขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352ระหว่างสืบพยานโจทก์ โจทก์ขอแก้ฟ้องจากข้อความที่ว่า’ให้ไปไถ่จำนองที่ดินจากนางประหยัด สุวเทพ เพื่อจำเลยจะได้นำที่ดินแปลงนี้ไปค้ำประกันเงินกู้ที่จำเลยกู้มาจากธนาคารในวงเงินไม่เกิน 375,500 บาท’ เป็นว่า ‘ให้นำที่ดิน แปลงนี้ไปจำนองกับธนาคารในวงเงินไม่เกิน 375,500 บาท เพื่อนำเงินจำนวนนี้ไปไถ่จำนองที่ดินแปลงนี้จากนางประหยัด สุวเทพและจากข้อความที่ว่า ‘โดยเจตนาทุจริต จำเลยได้บังอาจร่วมกันเบียดบังเอาที่ดินดังกล่าวไปโอนขายให้นายวรเทพ ลิ้มรสสุขแล้วเอาเงินที่ขายได้เป็นประโยชน์ของจำเลยเสีย เป็นว่า’จำเลยได้บังอาจมีเจตนาทุจริตร่วมกันไปไถ่จำนองที่ดินดังกล่าวจากธนาคารและนำไปโอนขายให้นายวรเทพ ลิ้มรสสุข แล้วจำเลยมีเจตนาทุจริตร่วมกันเบียดบังยักยอกเอาเงินที่ขายได้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยเสีย’ ดังนี้ ข้อความที่ขอแก้คงมีผลตรงกันกับฟ้องเดิมในใจความสำคัญไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องก็เป็นเพียงเรียกการกระทำให้ชัดขึ้น รวมทั้งการเพิ่มเติมบทลงโทษก็หาทำให้จำเลยหลงต่อสู้ไม่ จึงไม่อาจถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบเช่นกัน โจทก์ชอบที่จะขอแก้และเพิ่มเติมฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและนายศิริ ศิลปาจารย์ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดที่ ๒๖๗๔ ตำบลทวาย อำเภอบางรัก ซึ่งจำนองไว้กับนางประหยัด สุวเทพ เป็นเงิน ๓๗๕,๕๐๐ บาท โจทก์ทั้งสามและนายศิริได้ยินยอมให้จำเลยทั้งสองไถ่จำนองที่ดินแปลงดังกล่าวจากนางประหยัด สุวเทพ เพื่อนำไปค้ำประกันเงินกู้ซึ่งจำเลยทั้งสองกู้จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด ในวงเงินดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสองรับรองว่าจะไม่ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้กับบุคคลอื่นต่อมาจำเลยทั้งสองโดยเจตนาทุจริตบังอาจร่วมกันเบียดบังที่ดินดังกล่าวของโจทก์ไปโอนขายให้นายวรเทพ ลิ้มรสสุข เป็นเงิน๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท แล้วเอาเงินที่ขายได้นั้นเป็นประโยชน์ของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามและนายศิริ ศิลปาจารย์ ได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
คดีอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำร้องว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องกล่าวหาจำเลยในความผิดฐานยักยอกในสารสำคัญไว้แล้วแต่ยังมีรายละเอียดบางอย่างที่โจทก์มิได้บรรยายไว้ และไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือหลงต่อสู้ จึงขอแก้ไขข้อความในฟ้องเดิม เป็นว่าจำเลยทั้งสองได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามและนายศิริศิลปาจารย์ ให้นำที่ดินแปลงนี้ไปจำนองธนาคารในวงเงินไม่เกิน๓๗๕,๕๐๐ บาท เพื่อนำเงินจำนวนนี้ไปไถ่จำนองที่ดินแปลงนี้จากนางประหยัด สุวเทพ และขอเพิ่มเติมฟ้องต่อจากข้อความที่ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตร่วมกันเบียดบังยักยอกเอาเงินที่ขายได้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลย ด้วยข้อความว่า “อันเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของจำเลยที่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์และนายศิริ ศิลปาจารย์ โดยทุจริต” และขอเพิ่มเติมฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ ในคำขอท้ายฟ้องด้วย
จำเลยคัดค้านว่า การขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยเสียเปรียบเพราะเป็นการแก้ฟ้องให้ตรงตามคำพยานที่โจทก์นำสืบไว้และเพิ่มเติมฐานความผิดขึ้นมาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๖๓ โจทก์จะขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ ต้องมีเหตุอันควรตามคำร้องโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีเหตุอันควรที่โจทก์ขอแก้แต่อย่างใดให้ยกคำร้องโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องฟังพยานจำเลย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
คดีมาสู่ศาลอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายรวมทั้งการอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ตามที่โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์เป็นการขอเพิ่มเติมรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในความผิดฐานยักยอกตามฟ้องเดิมให้ชัดเจนขึ้น และเป็นการเพิ่มเติมมาตราโทษในความผิดฐานเดียวกัน และไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบเพราะจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์ชอบที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๔ พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโจทก์ไว้ดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไปตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ขอแก้ฟ้องจากข้อความที่ว่า ให้ไปไถ่จำนองที่ดินจากนางประหยัด สุวเทพ เพื่อจำเลยจะได้นำที่ดินแปลงนี้ไปค้ำประกันเงินกู้ที่จำเลยกู้มาจากธนาคารในวงเงินไม่เกิน๓๗๕,๔๐๐ บาท” เป็นว่า “ให้นำที่ดินแปลงนี้ไปจำนองกับธนาคารในวงเงินไม่เกิน ๓๗๕,๕๐๐ บาท เพื่อนำเงินจำนวนนี้ไปไถ่จำนองที่ดินแปลงนี้จากนางประหยัด สุวเทพ” ดังนี้ จะเห็นได้ว่าใจความสำคัญของข้อความทั้งสองอย่างนั้นตรงกัน คือให้จำเลยไปจัดการไถ่จำนองจากนางประหยัด กับนำที่ดินไปเป็นหลักประกันแก่ธนาคาร ภายในวงเงิน ๓๗๕,๕๐๐ บาท การแก้ไขข้อความเพียงเท่านี้ยังไม่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ
ส่วนที่โจทก์ขอแก้จากตอนที่ว่า “โดยเจตนาทุจริต จำเลยได้บังอาจร่วมกันเบียดบังเอาที่ดินดังกล่าวไปโอนขายให้นายวรเทพลิ้มรสสุข แล้วเอาเงินที่ขายได้เป็นประโยชน์ของจำเลยเสีย” เป็นว่า”จำเลยได้บังอาจมีเจตนาทุจริต ร่วมกันไปไถ่จำนองที่ดินดังกล่าวจากธนาคาร และนำไปโอนขายให้นายวรเทพ ลิ้มรสสุข แล้วจำเลยมีเจตนาทุจริตร่วมกันเบียดบังยักยอกเอาเงินที่ขายได้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยเสีย” นั้น การแก้ไขข้อความตอนนี้ก็คือย้ายคำว่า”เบียดบัง” ซึ่งเดิมใช้ควบกับกิริยา “เอาที่ดิน” มาใช้ควบกับกิริยา”เอาเงินเท่านั้น แต่ทั้งข้อความใหม่ก็ตรงกันในใจความสำคัญคือ จำเลยเอาที่ดินของโจทก์ไปขายแล้วเอาเงินที่ขายได้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียนั่นเอง จะถือว่าจำเลยเสียเปรียบหาได้ไม่และข้อความที่โจทก์ขอเพิ่มเติมว่า “อันเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของจำเลยที่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์และนายศิริ ศิลปาจารย์ โดยทุจริต” นั้น ข้อความดังกล่าวเท่ากับเป็นการกล่าวให้ชัดลงไปว่าการกระทำของจำเลยนั้นเรียกว่าอย่างไรเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเสียเปรียบ ส่วนที่โจทก์ขอเพิ่มเติมมาตรา ๓๕๓ นั้น เป็นการเพิ่มเติมฐานความผิดซึ่งมิได้ทำให้จำเลยหลงต่อสู้แต่อย่างใด จึงไม่อาจถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบเช่นกัน
ที่จำเลยโต้แย้งขึ้นมาอีกข้อหนึ่งว่า คำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์มิได้อ้างเหตุอันควรในการแก้ฟ้อง นั้น เห็นว่า ในคำร้องโจทก์ก็ได้อ้างว่าโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดในข้อหาฐานยักยอกโดยได้บรรยายฟ้องในสารสำคัญไว้แล้ว แต่ยังมีรายละเอียดบางอย่างที่โจทก์มิได้บรรยายไว้ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความตอนหลังนี้ได้แสดงถึงเหตุที่ขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องแล้ว ซึ่งขอแปลความหมายว่าเป็นขอแก้รายละเอียดที่ได้กล่าวในฟ้องไว้แล้วดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้นนั้นเอง ซึ่งพอถือว่าเป็นเหตุอันควรในการขอแก้ฟ้องชอบที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้โจทก์แก้และเพิ่มเติมฟ้องนี้ได้
พิพากษายืน

Share