คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 329/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้เสียหายถูกคนร้ายจับตัวไปควบคุมอยู่ 1 เดือน 3 วัน จึงหลบหนีมาแจ้งความให้การระบุชื่อ คนร้ายไว้ ต่อมาไม่นานจำเลยถูกจับกุม ผู้เสียหายก็ชี้ ตัวยืนยันว่าเป็นคนร้าย ครั้งภายหลัง15 ปี จำเลยถูกดำเนินคดีโดยจัดให้ผู้เสียหายมาชี้ ตัวซ้ำอีก แม้ครั้งหลังนี้ผู้เสียหายไม่ยืนยัน แต่การที่จำเลยยอมรับว่าเคยถูกชี้ ตัวมาแล้วครั้งหนึ่งและเคยให้การรับสารภาพว่าร่วมปล้นทรัพย์กับจับตัวผู้เสียหายไปเรียกค่าไถ่จริง ข้อเท็จจริงเช่นนี้เพียงพอรับฟังว่าจำเลยเป็นคนร้าย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก 12 คน ได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน2517 เวลากลางวันจำเลยนี้กับพวกมีอาวุธปืนติดตัวร่วมกันปล้นทรัพย์เงินสด 1,500 บาท เสื้อผ้า 7 ชุดราคา 1,000 บาท นาฬิกา 1 เรือนราคา 450 บาท มีดดาบโบราณ 1 เล่ม ราคา 200 บาท ขนอมยาสูบชนิดต่าง ๆ และน้ำตาลทราบขาวเป็นเงิน 950 บาท สบู่ ถ่าน ไฟฉาย ผงซักฟอกเป็นเงิน 72 บาท ยาทัมใจ ยาประสระนอแรด ราคา 24 บาทและของอื่น ๆอีกหลายอย่างราคา 500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,496 บาท (ที่ถูก4,696 บาท) ของนายลาภ ชนะพล ผู้เสียหายไปโดยทุจริตโดยจำเลยกับพวกใช้ปืนเป็นอาวุธขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหาย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ภายหลังจำเลยกับพวกได้กระทำผิดแล้ว เมื่อระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2517 ถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2517เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยกับพวกได้ร่วมกันควบคุมหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหาย อายุ 53 ปี เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ทั้งนี้โดยจำเลยกับพวกร่วมกันข่มขืนใจใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อาวุธปืนขู่เข็ญทำให้ผู้เสียหายปราศจากเสรีภาพในร่างกายเหตุเกิดที่ตำบลสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310, 313, 340, 340 ตรี, 83, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525มาตรา 7 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2514 ข้อ 14, 15 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 4,496 ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปล้อนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง จำคุก 12 ปี และความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังจับคนเรียกค่าไถ่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310, 313 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 313 บทหนัก จำคุกอีก 15 ปี รวมจำคุก 27 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ในการพิจารณา ลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 18 ปี ข้อหาอื่นให้ยก ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 4,496 บาท ด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2517 เวลา 16นาฬิกา ชายสิบกว่าคนแต่งกายชุดเขียวคล้ายทหาร มีปืนสั้นและปืนยาวเป็นอาวุธไปที่บ้านของนายลาภ ชนะพล ผู้เสียหาย คนร้าย 3 คนเข้าไปจี้ตัวผู้เสียหายไว้ คนร้ายอื่นร่วมกันค้นเอาสิ่งของจำพวกผ้าเครื่องนุ่งห่มของกินและเงินสดของผู้เสียหายรวมราคา 4,496 บาท ทั้งจับตัวผู้เสียหายและเด็กหญิงลัดดา อายุ 3 ปี บุตรสาวผู้เสียหายไปด้วยเมื่อไปได้ประมาณ 3 เส้น พบนายเชย พรหมสมบัติ คนร้ายจี้ตัวนายเชยไปประมาณ 3 กิโลเมตร ปล่อยตัวนายเชยและเด็กหญิงลัดดา คนร้ายคุมตัวผู้เสียหายเดินต่อไปพบนายแนมหรือถก ทองกับศรี เลี้ยงโคอยู่ข้างทางจี้ตัวนายแนมไปอีก เดินไปได้ 2 กิโลเมตรเป็นเวลามืดก็ปล่อยตัวนายแนมกลับคนร้ายคุมตัวผู้เสียหายเดินต่อไปจนเวลา 21 นาฬิกาถึงเนินเขาลูกหนึ่งชื่อควนดำ คนร้ายจับผู้เสียหายล่ามโซ่ไว้และสั่งให้นำเงิน 30,000 บาทมาไถ่ตัว แต่ผู้เสียหายติดต่อทางบ้านไม่ได้คนร้ายคุมตัวผู้เสียหาย 3 วัน เกรงเจ้าหน้าที่ตำรวจไปค้นจึงย้ายไปอยู่ที่เขาอีกลูกหนึ่ง กลางคืนล่ามโซ่ที่เท้าผู้เสียหาย ตลอดเวลามีคนร้ายถือปืนคุมไว้อยู่สิบกว่าวันก็ย้ายไปเข้าแห่งที่สาม ระยะหลังคนร้ายไม่ได้ล่ามโซ่ ผู้เสียหายจึงหลบหนี ได้รวมถูกขัง 1 เดือน3 วัน เมื่อลกับมาถึงบ้านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปสอบปากคำผู้เสียหายผู้เสียหายระบุชื่อคนร้ายหลายคน ต่อมาจับคนร้ายได้ ร้อยตำรวจโทเสริม พลีทิศสมุทร จัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวเมื่อวันที่ 12 มกราคม2518 ผู้เสียหายชี้ตัวจำเลยตามบันทึกการชี้ตัวเอกสารหมาย จ.3ภาพถ่ายหมาย จ.5 รายงานเบ็ดเสร็จประจำวัน เอกสารหมาย จ.6จำเลยให้การรับสารภาพ ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.7 วันที่ 18มิถุนายน 2531 ร้อยตำรวจตรีไกรวุฒิ วิริยะภาพ พนักงานสอบสวนจัดให้ผู้เสียหายดูตัวจำเลยอีก แต่ผู้เสียหายไม่ยืนยัน เพราะเหตุการณ์นานแล้วจำไม่ได้
จำเลยนำสืบว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2517 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวจำเลยไปที่สถานีตำรวจเพื่อให้ผู้เสียหายดูตัว ผู้เสียหายดูแล้วบอกว่าไม่ใช่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงปล่อยตัว ต่อมาจำเลยถูกจับที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ข้อหาฆ่าผู้อื่น เมื่อจำเลยถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำก็ถูกส่งมาดำเนินคดีนี้ การดูตัวครั้งที่สองผู้เสียหายไม่ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย จำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน 2517 มีคนร้ายประมาณ 10 คน แต่งกายชุดเขียวคล้ายทหารมีอาวุธปืนติดตัวมาที่บ้านของนายลาภ ชนะพล ผู้เสียหาย ปล้นทรัพย์สินไปได้ตามบัญชีรายการทรัพย์เอกสารหมาย จ.1 คนร้ายจับตัวผู้เสียหายไปด้วยเพื่อเรียกค่าไถ่ ต่อมาผู้เสียหายหนีกลับบ้านได้ปัญหามีว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกันปล้นทรัพย์ หน่วงเหนี่ยวกักขังคนเรียกค่าไถ่ตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายถูกคุมตัวอยู่1 เดือน 3 วัน จึงหลบหนีมาได้ ในระหว่างที่ถูกคุมตัวอยู่ได้ยินคนร้ายเรียกชื่อกันเองหลายคน ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนระบุชื่อไว้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยได้ ร้อยตำรวจโทเสริมจัดให้ผู้เสียหายดูตัวเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2518 ผู้เสียหายจำหน้าได้และชี้ตัวจำเลยเป็นคนร้ายตามบันทึกการชี้ตัวเอกสารหมาย จ.3 ภาพถ่ายหมายจ.5 และรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันเอกสารหมาย จ.6 แต่มาในชั้นสอบสวนเพิ่มเติมและชั้นพิจารณาผู้เสียหายเบิกความว่าจำจำเลยไม่ได้จึงไม่ยืนยันเห็นว่าขณะชี้ตัวจำเลยเป็นเวลาหลังเกิดเหตุ 2 เดือนผู้เสียหายยังจำเหตุการณ์ได้ดี ในชั้นพิจารณาก็ว่าถ้าชี้ตัวหลังเกิดเหตุใหม่เชื่อว่าจำได้และตอนที่ทำบันทึกเอกสารหมาย จ.3ผู้เสียหายแน่ใจ แต่ขณะที่มีการสอบสวนเพิ่มเติมและขณะที่ผู้เสียหายมาเบิกความเป็นเวลาล่วงเลยมาถึง 15 ปีรูปร่างหน้าตาของคนย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ ประกอบกับขณะสอบสวนเพิ่มเติมผู้เสียหายอายุถึง68 ปี จึงย่อมจำหน้าคนร้ายไม่ได้แน่นอนเหมือนตอนเกิดเหตุ ผู้เสียหายจึงไม่ยืนยัน จำเลยเองก็รับว่าเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตามตัวไปให้ผู้เสียหายชี้ตัวจริงข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยเคยถูกผู้เสียหายชี้ตัวตามบันทึกเอกสารหมาย จ.3 ภาพถ่ายหมาย จ.5 ซึ่งผู้เสียหายยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกระทำผิดด้วย นอกจากนี้ปรากฏว่า จำเลยเคยให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 13 มกราคม2518 โดยรับสารภาพว่าร่วมกับพวกปล้นทรัพย์และจับตัวผู้เสียหายไปเพื่อเรียกค่าไถ่จริง ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เอกสารหมายจ.7 อันเป็นเวลาใกล้เคียงกับวันเกิดเหตุการสอบสวนไม่มีพิรุธแต่อย่างใด จำเลยฎีกาว่าการสอบสวนไม่ชอบเพราะการชี้ตัวครั้งแรกเหตุการณ์ยังใหม่ ๆ สด ๆ ทำไมจำไม่ได้ การชี้ตัวครั้งที่ 2 ว่าจำเลยเป็นคนร้าย เห็นว่า ผู้เสียหายชี้ตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 12มกราคม 2518 ได้ถูกต้อง ตามบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.3ภาพถ่ายหมาย จ.5 รายงานเบ็ดเสร็จประจำวัน เอกสารหมาย จ.6 ส่วนการดูตัวครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2531 ร้อยตำรวจตรีไกรวุฒิ จัดให้ดูตัว ผู้เสียหายไม่ยืนยัน บอกจำไม่ได้ จึงไม่มีบันทึกและถ่ายภาพไว้แต่อย่างใด การสอบสวนชอบด้วยกฎหมายแล้ว พยานหลักฐานโจทก์มีนำ้หนักรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ โดยพวกของจำเลยมีอาวุธติดตัวไปด้วยและหน่วงเหนี่ยวกักขังจับคนเรียกค่าไถ่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share