คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะฟ้องพันตำรวจโทอ.เป็นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของตนได้ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18วรรคสอง บัญญัติไว้ พันตำรวจโทอ.จึงเป็นพนักงานสอบสวนตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(6) ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสี่ บัญญัติว่า”ในเขตท้องที่ใดมีพนักงานสอบสวนหลายคนการดำเนินการสอบสวนให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่นั้น…”ดังนั้น พันตำรวจโทอ. ในฐานะสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งอันถือได้ว่าเป็นพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่นั้น ย่อมมีอำนาจในการสอบสวน ให้ประกัน และฟ้องคดีในนามโจทก์ซึ่งเป็นตำแหน่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับสัญญาประกันที่ผู้ประกันทำไว้ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งได้ ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับใดระบุอำนาจและหน้าที่ไว้ว่าพนักงานสอบสวนคดีเท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องคดีได้ เอกสารมีใจความว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจนำโฉนดที่ดินรวม 3 ฉบับ ไปประกัน ม. ผู้ต้องหาในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คไปจากความควบคุมของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งแทนจำเลยที่ 1 จนเสร็จการ ดังนี้ เอกสารดังกล่าวเป็นใบมอบอำนาจตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ในลักษณะแห่งตราสาร ข้อ 7(ก)ต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาท และขีดฆ่าแล้วจึงจะสมบูรณ์ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ แต่เอกสารดังกล่าวปิดอากรแสตมป์ไว้10 บาท โดยไม่ขีดฆ่า ย่อมถือว่ายังไม่ปิดอากรแสตมป์สมบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จะใช้เป็นพยานหลักฐานฟังว่าจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประกันม. ไปจากโจทก์ไม่ได้ สัญญาประกันต้องลงลายมือชื่อผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกันในสัญญา กับต้องมีข้อความตาม (1)(2)แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 112 จึงเป็นกิจการอันกฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 798 วรรคแรก ดังนั้น การนำสืบในประเด็นดังกล่าวถือได้ว่ากฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง เมื่อใบมอบอำนาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนทำสัญญาประกันม.ไปจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ผูกพันตามสัญญาประกันที่จำเลยที่ 2ทำไว้ต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2527 จำเลยที่ 1มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 6019, 6026 และ 6029ตำบลสามวาตะวันออก อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ไปประกันนางมนัสชื่น เลขนะสุวรรณ ผู้ต้องหาคดีอาญาซึ่งอยู่ในความควบคุมของโจทก์ จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาประกันนางมนัสชื่นไปจากความควบคุมของโจทก์ตามที่จำเลยที่ 1 มอบหมายถึงกำหนดส่งตัวผู้ต้องหา จำเลยทั้งสองผิดสัญญาประกันไม่นำตัวผู้ต้องหามาส่งตามกำหนดนัด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าปรับพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์มิใช่คู่สัญญาจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ประกันนางมนัสชื่นตามใบมอบอำนาจที่โจทก์นำมาฟ้อง สัญญาประกันที่โจทก์นำมาฟ้องจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยคำฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พันตำรวจโทอนันต์เป็นสารวัตรใหญ่มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั่วไป แต่ไม่ได้สอบสวนคดีนี้จึงไม่มีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจฟ้องคดีได้ เท่ากับจำเลยที่ 1 โต้เถียงว่าพันตำรวจโทอนันต์ไม่มีอำนาจดำเนินคดีในนามของโจทก์ แม้จะนอกประเด็นจากคำให้การจำเลยที่ 1 แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ในปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะฟ้องพันตำรวจโทอนันต์เป็นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง จึงมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของตนได้ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติไว้พันตำรวจโทอนันต์จึงเป็นพนักงานสอบสวนตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(6) ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในเขตท้องที่ใดมีพนักงานสอบสวนหลายคน การดำเนินการสอบสวนให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่นั้น…” ดังนั้นพันตำรวจโทอนันต์ในฐานะสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งอันถือได้ว่าเป็นพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่นั้นจึงมีอำนาจในการสอบสวน ให้ประกัน และฟ้องคดีในนามโจทก์ซึ่งเป็นตำแหน่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกี่ยวกับสัญญาประกันที่ผู้ประกันทำไว้ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งอันหมายถึงโจทก์ได้ ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับใดระบุอำนาจและหน้าที่ไว้ว่าพนักงานสอบสวนผู้สอบสวนคดีเท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องคดี
ประเด็นว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประกันนางมนัสชื่นไปจากโจทก์หรือไม่ โจทก์นำสืบอ้างใบมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐานว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 1 รวม 3 ฉบับ มาประกันนางมนัสชื่นไปจากโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ใบมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 ปิดอากรแสตมป์ไว้ 10 บาท แต่ไม่ขีดฆ่า จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.1 มีใจความว่า จำเลยที่ 1มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจนำโฉนดที่ดินรวม 3 ฉบับไปประกันนางมนัสชื่นผู้ต้องหาในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คไปจากความควบคุมของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งแทนจำเลยที่ 1 จนเสร็จการ… ดังนี้เอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นใบมอบอำนาจตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ในลักษณะแห่งตราสารข้อ 7(ก) ต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาท และขีดฆ่าแล้วจึงจะสมบูรณ์ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.1 ปิดอากรแสตมป์ไว้ 10 บาท โดยไม่ขีดฆ่าย่อมถือว่ายังไม่ปิดอากรแสตมป์สมบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จะใช้ใบมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1เป็นพยานหลักฐานฟังว่า จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประกันนางมนัสชื่นไปจากโจทก์ไม่ได้ เมื่อสัญญาประกันจะต้องลงลายมือชื่อผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกันในสัญญา กับต้องมีข้อความตาม (1) (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 112จึงเป็นกิจการอันกฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 วรรคแรก ดังนั้น การนำสืบในประเด็นดังกล่าวจึงถือได้ว่ามีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง เมื่อเอกสารหมาย จ.1 ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ดังวินิจฉัยแล้วและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสารอีก ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนทำสัญญาประกันนางมนัสชื่นไปจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ผูกพันตามสัญญาประกัน ที่จำเลยที่ 2ทำไว้ต่อโจทก์ ไม่ต้องรับผิดชำระเงินค่าปรับให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share