แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อน เป็นแต่เคยถูก ส. ฟ้องเป็นจำเลยด้วยกันเท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คดีก่อน ส. ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 4 และสหกรณ์จำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทและให้โอนหุ้นพิพาทในสหกรณ์จำเลยคืนแก่ ส. โจทก์และจำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 โอนหุ้นพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยสุจริตจำเลยที่ 4 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทเช่นเดียวกับข้ออ้างในคดีนี้อันมีประเด็นโดยตรงว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทหรือไม่ แม้คดีก่อนโจทก์และจำเลยคดีนี้จะเป็นจำเลยด้วยกันก็ต้องถือว่าเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วย ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 คำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความเมื่อคดีก่อนศาลพิพากษาว่ากรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทเป็นของ ส. ให้โจทก์และจำเลยคดีนี้โอนหุ้นพิพาทคืนให้แก่ ส. คดีถึงที่สุด โจทก์และจำเลยจึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาลว่ากรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทเป็นของ ส. และจำเลยต้องโอนหุ้นพิพาทคืนให้แก่ ส. จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์บริการเมื่อประมาณ ปี 2528โจทก์ซื้อหุ้นของจำเลยจำนวน 1 หุ้น ใบหุ้นเลขที่ 913 ปัจจุบันใบหุ้นเลขที่ 1550 จากนายสุรชัย เนตรพิศาลวินิช เดิมหุ้นดังกล่าวเป็นของนายเสงี่ยม เสือเถื่อน ต่อมานายเสงี่ยมโอนขายให้นายอนุชิต ศรีสอน และนายอนุชิตโอนขายให้แก่นายสุรชัยแล้วนายสุรชัยโอนขายให้แก่โจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยจดทะเบียนให้โจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นและออกใบหุ้นให้แก่โจทก์จำเลยได้จดทะเบียนให้โจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นและออกใบหุ้นให้แก่โจทก์แล้ว ต่อมานายเสงี่ยมได้ฟ้องโจทก์และจำเลยให้การเพิกถอนการจดทะเบียนให้ผู้ถือหุ้นและเรียกหุ้นคืนต่อศาลจังหวัดชลบุรีศาลจังหวัดชลบุรีมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอนหุ้นของโจทก์กับจำเลยและให้ยกคำขอให้คืนใบหุ้นของนายเสงี่ยม ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 จำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยจดทะเบียนผู้ถือหุ้นกลับไปเป็นชื่อของนายเสงี่ยมและโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นดังกล่าวได้แจ้งให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนให้โจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยและออกใบหุ้นให้แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทะเบียนให้โจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยและออกใบหุ้นให้แก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่1880/2529 ของศาลจังหวัดชลบุรี พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์และจำเลยในคดีนี้เคยถูกนายเสงี่ยม เสือเถื่อนเป็นโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นที่จำเลยโอนหุ้นตามใบหุ้นเลขที่ 913 ให้แก่โจทก์ ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1880/2529 ของศาลจังหวัดชลบุรี ซึ่งคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว โดยศาลจังหวัดชลบุรีฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 (นายเสงี่ยม เสือเถื่อน) ไม่มีความประสงค์จะโอนหุ้นของตนให้แก่จำเลยที่ 4(โจทก์ในคดีนี้) การที่จำเลยที่ 1 (จำเลยในคดีนี้) ดำเนินการโอนหุ้นของโจทก์ที่ 2 (นายเสงี่ยม เสือเถื่อน) ให้จำเลยที่ 4 (โจทก์ในคดีนี้) จึงเป็นการขัดกับเจตนาของโจทก์ที่ 2 (นายเสงี่ยม เสือเถื่อน) การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการไม่ชอบพิพากษาให้เพิกถอนการโอนหุ้นตามใบหุ้นเลขที่ 913 ระหว่างโจทก์ที่ 2 (นายเสงี่ยม เสือเถื่อน) กับจำเลยที่ 4(โจทก์ในคดีนี้) และให้จำเลยที่ 1 (จำเลยในคดีนี้) และจำเลยที่ 4 (โจทก์ในคดีนี้) ดำเนินการโอนหุ้นคืนให้แก่โจทก์ที่ 2 (นายเสงี่ยม เสือเถื่อน) หากไม่ดำเนินการโอนหุ้นคืนให้แก่โจทก์ที่ 2 (นายเสงี่ยม เสือเถื่อน) ก็ให้ถือเอาตามคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยในการโอนหุ้นดังกล่าวคืนต่อมาจำเลยที่ 1 (จำเลยในคดีนี้) ได้ออกใบหุ้นใหม่เลขที่ 1550 และโอนหุ้นดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2 (นายเสงี่ยม เสือเถื่อน) แล้ว คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1880/2529 ของศาลจังหวัดชลบุรีหรือไม่ เห็นว่าฟ้องซ้ำเป็นเรื่องที่ห้ามมิให้โจทก์จำเลยซึ่งฟ้องร้องกันและศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วกลับมารื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันสำหรับคดีนี้โจทก์จำเลยไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อนเป็นแต่เคยถูกนายเสงี่ยม เสือเถื่อนฟ้องเป็นจำเลยด้วยกันในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1880/2529 ของศาลจังหวัดชลบุรีเท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ แต่อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องเดียวกับที่โจทก์และจำเลยถูกนายเสงี่ยม เสือเถื่อน ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทและให้โอนหุ้นพิพาทคืนแก่นายเสงี่ยม เสือเถื่อน ในคดีดังกล่าวโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 4 และจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1(จำเลยคดีนี้) โอนหุ้นพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 (โจทก์คดีนี้) โดยสุจริต จำเลยที่ 4 (โจทก์คดีนี้) จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทเช่นเดียวกับข้ออ้างในคดีนี้อันมีประเด็นโดยตรงว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทหรือไม่ แม้ว่าในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1880/2529 ของศาลจังหวัดชลบุรี โจทก์และจำเลยคดีนี้จะเป็นจำเลยด้วยกันก็ตาม ก็ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีดังกล่าวด้วย ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 คำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลทุกฝ่ายแม้จะเป็นฝ่ายเดียวกันก็ตามเมื่อศาลจังหวัดชลบุรีได้มีคำพิพากษาว่ากรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทเป็นของนายเสงี่ยมเสือเถื่อน ให้โจทก์และจำเลยคดีนี้โอนหุ้นพิพาทคืนให้แก่นายเสงี่ยม เสือเถื่อน ไปแล้วโจทก์และจำเลยจึงต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดชลบุรีโดยผลของกฎหมายว่ากรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทเป็นของนายเสงี่ยม เสือเถื่อนและจำเลยต้องโอนหุ้นพิพาทคืนให้แก่นายเสงี่ยม เสือเถื่อน ตามคำพิพากษาดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยต้องโอนหุ้นพิพาทคืนให้แก่นายเสงี่ยม เสือเถื่อน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน