คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546-3547/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า ‘หนี้อื่น’ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 30นั้น หมายถึงหนี้อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้าง หนี้ที่โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ให้แก่จำเลยเนื่องจากการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างจึงมิใช่หนี้อื่นซึ่งนายจ้างจะนำมาหักจากค่าจ้างมิได้

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์ว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องใจความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย มีหน้าที่ปิดเปิดประตูหน้าต่างโรงซ่อมรถจักรดีเซลต่อมามีคนร้ายโจรกรรมทรัพย์สินของโรงซ่อมรถจักรดีเซลระหว่างที่โจทก์ที่ 1ทำหน้าที่ปิดเปิดประตูหน้าต่าง 6 ครั้ง และระหว่างที่โจทก์ที่ 2 ทำหน้าที่ปิดเปิดประตูหน้าต่าง 5 ครั้ง จำเลยได้สั่งให้โจทก์ที่ 1 รับผิดชดใช้เงิน 3,943.73 บาทโจทก์ที่ 2 รับผิดชดใช้เงิน 3,808.15 บาท โดยหักจากค่าจ้างของโจทก์ที่ 1 ที่ 2เป็นรายเดือน และโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ถูกตัดค่าจ้าง 10 เปอร์เซ็นต์ มีกำหนด 1 เดือนเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำ พ.ศ. 2523หนึ่งขั้น คำสั่งของจำเลยไม่ถูกต้อง เพราะการที่ทรัพย์สินหายมิได้อยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 มิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใดขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ลงโทษตัดค่าจ้างและให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหาย ให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 3,943.73 บาท โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 3,808.15 บาท กับค่าจ้างที่จำเลยสั่งตัดไปแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน297.90 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 179.10 บาท และให้จำเลยเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี พ.ศ. 2523 แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 คนละ 1 ขั้น

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า นอกจากโจทก์ที่ 1 ที่ 2 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าช่างชั้นสองประจำกองซ่อมรถจักรโรงงานมักกะสัน ฝ่ายการช่างกลแล้วโจทก์ทั้งสองยังมีหน้าที่ปิดเปิดโรงซ่อมรถจักรดีเซลในระหว่างเวลา6.30 นาฬิกา ถึง 16.45 นาฬิกาอีกด้วย โดยจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาตอบแทนเพิ่มให้อีกวันละ 2 ชั่วโมง ระหว่างที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ทำหน้าที่ปิดเปิดโรงซ่อมรถจักรดีเซล ได้มีคนร้ายลักทรัพย์ของจำเลยภายในโรงซ่อมรถจักรดีเซลรวม6 ครั้ง จำเลยตั้งกรรมการสอบสวนแล้วสรุปว่าคนร้ายได้เข้าหลบซ่อนตัวอยู่ภายในโรงซ่อมรถจักรดีเซลก่อนที่โจทก์จะปิดประตูหน้าต่างและยังปรากฏด้วยว่ามีการชำรุดบกพร่องของประตูและช่องลม เป็นเหตุให้คนร้ายโจรกรรมทรัพย์สินของจำเลยแสดงว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ประมาทเลินเล่อบกพร่องต่อหน้าที่ คณะกรรมการสอบสวนเสนอให้ลงโทษทางวินัย และให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 กับผู้อื่นที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย จำเลยเห็นพ้องกับความเห็นของกรรมการสอบสวน จึงลงโทษตัดเงินเดือนคนละ 10 เปอร์เซ็นต์ มีกำหนด 1 เดือน ลงโทษภาคทัณฑ์และมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายรวม 6 ครั้ง ทั้งนี้ตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของจำเลยคือประมวลการลงโทษผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2517 และคำสั่งทั่วไปลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2502 ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้รับการเลื่อนค่าจ้างประจำปี 2523 เพราะถูกลงโทษตัดเงินเดือนในรอบปีที่แล้วมาซึ่งเป็นคำสั่งทั่วไปลงวันที่ 21 มกราคม2512 เรื่อง หลักเกณฑ์การเลื่อนเงินเดือนและค่าจ้างประจำปีของผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยจึงไม่อาจเลื่อนเงินเดือนให้โจทก์ได้ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน

ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างมีความเห็นแย้งในประเด็นที่ว่า จำเลยมีสิทธิหักค่าจ้างของโจทก์เพื่อชดใช้ทรัพย์สินที่ถูกลัก

โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 30 ที่กำหนดไว้ว่า “ในการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด นายจ้างจะนำหนี้อื่นมาหักมิได้ “นั้น มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างในเรื่องค่าแรงงาน มิให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง ถือว่าเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะการปล่อยให้นายจ้างเอาเปรียบกดขี่ข่มเหงลูกจ้างย่อมจะก่อให้เกิดความระส่ำระสายและกระทบกระเทือนความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ในทางกลับกัน ถ้าปล่อยให้ลูกจ้างประมาทเลินเล่อและมีความบกพร่องในการทำงานหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างอย่างไรก็ได้ โดยนายจ้างไม่มีสิทธิที่จะออกคำสั่งหรือวางระเบียบหรือทำข้อตกลงใด ๆ เพื่อป้องกันความเสียหายนั้น ความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ย่อมจะถูกทำลายเช่นเดียวกัน ดังนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว จึงมิได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างหรือนายจ้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่เพียงฝ่ายเดียว คำว่า “หนี้อื่น” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 30 หมายถึงหนี้ชนิดใดพิเคราะห์ข้อความที่ว่า “ในการจ่ายค่าจ้างค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด นายจ้างจะนำหนี้อื่นมาหักมิได้” แล้วตีความกลับกันได้ว่า ถ้าไม่ใช่ “หนี้อื่น” แต่เป็นหนี้เกี่ยวข้องกับตัวค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดนั้นเองก็ย่อมจะหักได้ ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ถ้อยคำข้างต้นกับเจตนารมณ์ของประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวประกอบกันแล้ว คำว่า “หนี้อื่น” จึงหมายถึงหนี้อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้าง เช่น ค่าซื้อของจากสโมสร หนี้เงินกู้ ฯลฯ เป็นต้น แต่กรณีนี้เป็นหนี้ที่โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชดใช้แก่จำเลยเนื่องจากการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างจึงมิใช่ “หนี้อื่น” ซึ่งจำเลยจะนำมาหักจากค่าจ้างมิได้ ถ้าประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวประสงค์จะมิให้มีการหักหนี้ทุกชนิดจากค่าจ้างแรงงาน ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดแล้ว ก็ย่อมจะใช้คำว่า “หนี้ใด ๆ” หรือถ้อยคำอื่นที่มีความหมายทำนองเดียวกัน คงจะไม่ใช้คำว่า “หนี้อื่น” ดังที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นแน่ ทั้งไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นหนี้ตามคำพิพากษาดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ เพราะไม่มีข้อความตอนใดในประกาศกระทรวงมหาดไทยที่พอจะแปลความได้เช่นนั้น จึงเห็นว่าคำสั่งทั่วไปของการรถไฟที่ ก.62/3580 เรื่อง การหักเงินเดือนและเงินค่าจ้างชดใช้ค่าเสียหายไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 30 จำเลยจึงมีสิทธิหักค่าจ้างของโจทก์ชดใช้ความเสียหายสำหรับทรัพย์สินของจำเลยที่ถูกโจรกรรมได้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share