คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3543/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยแสดงในงบดุลว่า โจทก์มีลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระโดยโจทก์ มิได้เรียกเก็บดอกเบี้ยจากบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นดังกล่าวตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1122 ดังนี้ การที่โจทก์ไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้ถือหุ้นที่ค้างชำระค่าหุ้นย่อมทำ ให้โจทก์มีกำไรสุทธิน้อยลง เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยจากบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นโดยถือเสมือนว่าโจทก์ให้ผู้ถือหุ้นกู้เงินเนื่องจากโจทก์ลงบัญชีว่าได้รับชำระเงินค่าหุ้นครบตามทุนจดทะเบียนแล้วทั้งนี้ตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคสอง ผู้ประกอบการจะต้องลงบัญชีรับรู้รายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นใน รอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่ต้องคำนึงว่าได้รับชำระเงิน หรือได้จ่ายเงินไปแล้วภายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหรือไม่ แต่การรับรู้รายได้หรือรายจ่ายตามหลักเกณฑ์สิทธินั้น มีหลักสำคัญอยู่ว่ารายได้หรือรายจ่ายนั้นจะต้องมีความแน่นอนที่ผู้ประกอบการมีสิทธิจะได้รับชำระหรือมีหน้าที่จะต้องจ่าย อีกทั้งยังต้องเป็นจำนวนที่แน่นอน สามารถลงบัญชีรับรู้ได้ สำหรับรายจ่ายค่าตอบแทนกรรมการในการบริหารงานของปี 2535 ของโจทก์ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าคณะกรรมการบริษัทและ ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นจะอนุมัติให้จ่ายค่าตอบแทนหรือไม่ทั้งไม่เป็นการแน่นอนว่าจะจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่าใดสิทธิของกรรมการที่จะเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าตอบแทนและหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่กรรมการจะเกิดขึ้นต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นมีมติ เห็นชอบให้จ่ายค่าตอบแทนตามจำนวนที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติดังนั้น แม้ว่าค่าตอบแทนกรรมการในการบริหารงานของปี 2535 จะสัมพันธ์กับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 แต่ก็ไม่ใช่รายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้หรือเป็นต้นทุนของรายได้ โดยตรง และยังไม่เป็นการแน่นอนว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนกรรมการดังกล่าวนั้นหรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่ารายจ่ายนั้นได้เกิดขึ้นแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 โจทก์จึงไม่ต้องนำรายจ่ายดังกล่าวมาลงบัญชีหรือตั้งเป็น ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 แต่โจทก์ สามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2536 ได้ เพราะหน้าที่ของโจทก์ในการจ่ายเงินเกิดขึ้น ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นคือหลังจากที่ที่ประชุมใหญ่สามัญ ผู้ถือหุ้นให้ความเห็นชอบในการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรรมการ ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2536 เมื่อถือเป็น รายจ่ายของปี 2536 โจทก์ก็ไม่จำต้องนำรายจ่ายนี้ไปปรับปรุง เป็นรายจ่ายของปี 2535 ในการยื่นเพื่อเสียภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.50 ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า มีเหตุที่จะงดการ เรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากโจทก์หรือไม่นั้นโจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงเหตุที่จะขอให้งดการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากโจทก์ และศาลภาษีอากรมิได้ตั้งประเด็นนี้ไว้ โจทก์ก็มิได้คัดค้าน จึงถือว่าเป็น ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.4/10/71/2/100193และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 69/2541/สภ.1 (กม)
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท จดทะเบียนไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทว่าทุนจดทะเบียนเรียกชำระเต็มแล้ว การคำนวณรายได้และรายจ่ายโจทก์ใช้เกณฑ์สิทธิ ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยแสดงในงบดุลว่า โจทก์มีลูกหนี้ค่าหุ้นค้างชำระ 1,200,000 บาท โดยโจทก์มิได้เรียกเก็บดอกเบี้ยจากบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นดังกล่าวและโจทก์ได้จ่ายค่าตอบแทนกรรมการสำหรับการบริหารงานในปี 2535 จำนวน 1,100,000 บาท โดยหักเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2536 ค่าตอบแทนกรรมการดังกล่าวจะกำหนดเป็นจำนวนที่แน่นอนได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทโจทก์และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของผู้ถือหุ้นเสียก่อน โดยคณะกรรมการมีมติอนุมัติและที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของผู้ถือหุ้นมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2536 แต่ผู้ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในงบดุลและงบกำไรขาดทุนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2536 ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนโจทก์และแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 เป็นเงินภาษี 1,464,963.47 บาท หักภาษีที่ชำระไว้แล้ว 1,105,273.34 บาท คิดเป็นเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม 359,690.13 บาท เบี้ยปรับ 359,690.13 บาท และเงินเพิ่ม 80,930.28 บาท รวมภาษีที่เรียกเก็บทั้งสิ้น 800,310.54 บาท โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับลง 179,845.06 บาท คงเรียกเก็บภาษีทั้งสิ้นเป็นเงิน 620,465.48 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่าโจทก์ได้รับชำระเงินค่าหุ้นครบตามทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาทแล้วหรือไม่ปัญหานี้นายสุวัฒน์ หิรัญวัฒน์วนิช และนางนุชนาฎ ตั้งจิตต์ศุภร พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบภาษีโจทก์และผู้รายงานการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ตามลำดับเบิกความยอมรับว่าตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ถือหุ้นยังไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้นจำนวน 1,200,000 บาท ให้แก่โจทก์จริง จึงต้องฟังว่า โจทก์ยังไม่ได้รับชำระเงินค่าหุ้นครบตามทุนที่จดทะเบียนไว้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการที่สองว่าเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยจากบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1122บัญญัติว่า “ถ้าและเงินอันจะพึงส่งใช้เป็นค่าหุ้นตามเรียกนั้นผู้ถือหุ้นคนใดมิได้ส่งใช้ตามวันกำหนดไซร้ ผู้นั้นจำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ” นางสายสุรีย์ ตันศิริมาศ ผู้จัดการฝ่ายบัญชีของโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ทราบว่าหากผู้ถือหุ้นไม่ชำระค่าหุ้นโจทก์ต้องเรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้ถือหุ้น ดังนั้น การที่โจทก์ไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้ถือหุ้นที่ค้างชำระค่าหุ้นย่อมทำให้โจทก์มีกำไรสุทธิน้อยลงเจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยจากบัญชีลูกหนี้ค่าหุ้นโดยถือเสมือนว่าโจทก์ให้ผู้ถือหุ้นกู้เงินเนื่องจากโจทก์ลงบัญชีว่าได้รับชำระเงินค่าหุ้นครบตามทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท แล้วทั้งนี้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการที่สามว่าโจทก์มีสิทธินำรายจ่าย 1,100,000 บาท ซึ่งเป็นค่าตอบแทนกรรมการสำหรับการบริหารงานในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 มาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 ได้หรือไม่ ปัญหานี้นางสายสุรีย์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนกรรมการเป็นประจำทุกปีในปีแรกและปีที่สองหลังจากก่อตั้งบริษัทไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการหลังจากนั้นบริษัทจะดูว่ากรรมการได้จัดการและบริหารบริษัทอย่างไรแล้วจึงพิจารณาจ่ายค่าตอบแทน จำไม่ได้ว่าจะเริ่มจ่ายค่าตอบแทนกรรมการหลังจากตั้งบริษัทแล้ว 3 ปี หรือไม่ ค่าตอบแทนดังกล่าวมีการจ่ายบ้างและเว้นไปบ้าง การจ่ายแต่ละครั้งจะไม่เท่ากันแล้วแต่ที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัทจะกำหนด และได้รับความเห็นชอบโดยที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นโจทก์ทราบว่าจะต้องจ่ายค่าตอบแทนกรรมการของปี 2535 เมื่อมีการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2536 จำเลยนำสืบว่า รายจ่ายค่าตอบแทนกรรมการในการบริหารงานของปี 2535 ต้องนำมาตัดเป็นค่าใช้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 หากไม่สามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ทันก็สามารถตั้งเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่ายได้ถ้านำมาตัดเป็นค่าใช้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536ถือว่าเป็นการนำรายจ่ายมาตัดผิดรอบระยะเวลาบัญชี เห็นว่าการคำนวณรายได้และรายจ่ายเพื่อหากำไรสุทธิของบริษัทนั้นประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคสอง บัญญัติให้ใช้เกณฑ์สิทธิคือให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามนัยของบทบัญญัติดังกล่าวผู้ประกอบการจะต้องลงบัญชีรับรู้รายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโดยไม่ต้องคำนึงว่าได้รับชำระเงินหรือได้จ่ายเงินไปแล้วภายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหรือไม่ แต่การรับรู้รายได้หรือรายจ่ายตามหลักเกณฑ์สิทธินั้นมีหลักสำคัญอยู่ว่ารายได้หรือรายจ่ายนั้นจะต้องมีความแน่นอนที่ผู้ประกอบการมีสิทธิจะได้รับชำระหรือมีหน้าที่จะต้องจ่ายอีกทั้งยังต้องเป็นจำนวนที่แน่นอน สามารถลงบัญชีรับรู้ได้สำหรับรายจ่ายค่าตอบแทนกรรมการในการบริหารงานของปี 2535นั้น ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นจะอนุมัติให้จ่ายค่าตอบแทนหรือไม่ ทั้งไม่เป็นการแน่นอนว่าจะจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่าใด สิทธิของกรรมการที่จะเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าตอบแทนและหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่กรรมการจะเกิดขึ้นต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นมีมติเห็นชอบให้จ่ายค่าตอบแทนตามจำนวนที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ ดังนั้น แม้ว่าค่าตอบแทนกรรมการในการบริหารงานของปี 2535 จะสัมพันธ์กับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 แต่ก็ไม่ใช่รายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้หรือเป็นต้นทุนของรายได้โดยตรง และยังไม่เป็นการแน่นอนว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนกรรมการดังกล่าวนั้นหรือไม่จึงถือไม่ได้ว่ารายจ่ายนั้นได้เกิดขึ้นแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 โจทก์จึงไม่ต้องนำรายจ่ายดังกล่าวมาลงบัญชีหรือตั้งเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 แต่อย่างใด แต่โจทก์สามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 ได้ เพราะหน้าที่ของโจทก์ในการจ่ายเงินเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นคือหลังจากที่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นให้ความเห็นชอบในการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรรมการในการประชุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2536 เมื่อถือเป็นรายจ่ายของปี 2536 โจทก์ก็ไม่จำต้องนำรายจ่ายนี้ไปปรับปรุงเป็นรายจ่ายของปี 2535 ในการยื่นเพื่อเสียภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.50 แต่ประการใด การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.4/10/71/2/100193 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 69/2541/สภ.1 (กม) เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (9) จำนวน 1,100,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายว่ามีเหตุที่จะงดการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากโจทก์หรือไม่ปัญหาข้อนี้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงเหตุที่จะขอให้งดการเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากโจทก์ และศาลภาษีอากรกลางมิได้ตั้งประเด็นนี้ไว้ โจทก์ก็มิได้คัดค้านจึงถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.4/10/71/2/100193ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 69/2541/สภ.1 (กม) เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (9)

Share