แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7,72 วรรคหนึ่ง ส่วนการมีกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองไม่ได้ไว้ในครอบครองเป็นความผิดตามมาตรา 55,78 วรรคหนึ่ง การที่กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตรา ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์จะแยกความผิด 2 ฐานนี้ออกจากกัน ดังนั้นแม้ว่าจำเลยจะมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางดังกล่าวไว้ในครอบครองในเวลาเดียวกัน อาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางใช้ร่วมกันได้ และเจตนาของจำเลยในการมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางเป็นการมีไว้เพื่อความประสงค์อันเดียวกันก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
ความผิดฐานมีกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ซึ่งตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต แต่ศาลชั้นต้นระวางโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ให้จำคุก 1 ปี จึงต่ำกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2540 เวลากลางวัน จำเลยมีอาวุธปืนสั้นขนาด .223(5.56 มม.) จำนวน 1 กระบอก ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนและกระสุนปืนเล็กกลขนาดเดียวกันจำนวน 2 นัด ซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 55, 72, 78 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 91 และริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 55, 72 วรรคหนึ่ง, 78 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท ฐานมีกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุก 1 ปี รวมจำคุก2 ปี ปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษจำเลยข้อหาความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครอง และคุมความประพฤติจำเลย1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมความประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลาที่คุมความประพฤติ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า การมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองเป็นความผิดต่างกรรมกันนั้น เห็นว่า การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง ส่วนการมีกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองไม่ได้ไว้ในครอบครองเป็นความผิดตามมาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง การที่กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตรา ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์จะแยกความผิด 2 ฐานนี้ออกจากกัน แม้ว่าจำเลยจะมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองในเวลาเดียวกัน อาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางใช้ร่วมกันได้ และเจตนาของจำเลยในการมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางเป็นการมีไว้เพื่อความประสงค์อันเดียวกันก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
อนึ่ง ความผิดฐานมีกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ซึ่งตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่2 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต แต่ศาลชั้นต้นระวางโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ให้จำคุก1 ปี จึงต่ำกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 55, 72 วรรคหนึ่ง, 78 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ปรับ 6,000 บาท ฐานมีกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง ภายในระยะเวลาที่คุมความประพฤติ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง