คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4582/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินแต่ใส่ชื่อ น. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนต่อมามีการจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านในระหว่างระยะเวลา3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย โดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจำนอง เป็นการกล่าวอ้างว่าการที่มีชื่อน. ในโฉนดเป็นเพียงการถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยเท่านั้นมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ น.โดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ อันผู้ร้องจะต้องร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยกับ น. ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 ผู้ร้องจึงร้องขอให้เพิกถอนการจำนองได้โดยตรง แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องจะเคยมีความเห็นว่าผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนจึงไม่เพิกถอนการจำนองก็ตาม แต่เมื่อได้มีการสั่งให้สอบสวนถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อีกครั้งแล้ว ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอเพิกถอนการจำนองต่อศาลได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 เพราะอำนาจในการร้องขอให้เพิกถอนไม่อาจสละได้ ผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่มีค่าตอบแทนจึงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านรับจำนองไว้โดยไม่สุจริตไปด้วยแม้ผู้คัดค้านได้ฟ้องบังคับจำนองในระหว่างที่คดีล้มละลายอยู่ในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องสอบสวนเพื่อพิจารณาร้องขอเพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท และผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผู้คัดค้านกลายเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดไปโดยสุจริต เมื่อผู้คัดค้านเพิ่งฟ้องบังคับจำนองหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด จึงถือไม่ได้ว่าการบังคับคดีที่ผู้คัดค้านฟ้องบังคับจำนองนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์การบังคับคดีและการที่ผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จึงใช้ยันแก่ผู้ร้องไม่ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายวันที่ 8 มกราคม 2529 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดวันที่ 1 เมษายน 2529 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2530 ตามทางสอบสวนปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2527 จำเลยได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 34612 ถึง 34615, 76437, 76439 และ 76102 ถึง 76104 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร รวม 9 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากนางไพเราะ พงษ์ศิลป์ ในราคา 18,000,000 บาท โดยใส่ชื่อนางนันทา อัญชันบุตร มารดาของจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2528 จำเลยโดยนางนันทาผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้คัดค้านเป็นเงิน 15,000,000 บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ในระหว่างที่ผู้ร้องสอบสวนเพื่อพิจารณาร้องขอเพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านได้ฟ้องบังคับจำนองที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อทรัพย์รายนี้ได้ในราคา 13,700,000 บาท แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์การที่จำเลยยอมให้นางนันทาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแล้วจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ผู้คัดค้านเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลายขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางนันทามิใช่ถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลย ผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนผู้ร้องยังมิได้ร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยกับนางนันทาที่ดินพิพาทจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนางนันทา มิใช่ทรัพย์สินในคดีล้มละลาย ผู้ร้องไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนการจำนอง ทั้งผู้ร้องมิได้ขอให้ศาลชั้นต้นงดการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทไว้ก่อนจนกระทั่งการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ถือว่าผู้ร้องสละสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 110ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 34612 ถึง 34615, 36437, 36439, 76012 (ที่ถูกเป็น 76102),76103, 76104 ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) อำเภอบางเขน(บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านกับนางนันทา อัญชันบุตร
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2529 ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2529 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2530 ที่ดินพิพาททั้ง 9 โฉนดปรากฏทางทะเบียนว่ามีนางนันทามารดาจำเลยเป็นเจ้าของ โดยซื้อมาจากนางไพเราะ พงษ์ศิลป์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2527 และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2528 นางนันทาได้จดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้คัดค้านเป็นเงิน 15,000,000 บาทดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย ร.20 ต่อมาผู้คัดค้านได้ฟ้องบังคับจำนองและศาลชั้นต้นพิพากษาให้นางนันทาชำระหนี้ หากไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาด เมื่อมีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนอง ผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้จากการขายทอดตลาดคำสั่งศาลแต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และจดทะเบียนระงับการจำนอง
ปัญหาแรกตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่าที่ดินพิพาทมีชื่อนางนันทาเป็นเจ้าของ การที่ผู้ร้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่ให้นางนันทาถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ร้องจะต้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการฉ้อฉลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 ให้ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยก่อนจึงจะมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการจำนอง การที่ผู้ร้องมาร้องขอให้เพิกถอนการจำนองโดยตรงจึงเป็นการมิชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แต่ใส่ชื่อนางนันทาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ต่อมามีการจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้าน ในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจำนองเป็นการกล่าวอ้างว่าการที่มีชื่อนางนันทาในโฉนดเป็นเพียงการถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่นางนันทาโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ อันผู้ร้องจะต้องร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยกับนางนันทาตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 113 ผู้ร้องจึงร้องขอให้เพิกถอนการจำนองในคดีนี้ได้โดยตรง
ปัญหาที่สองและที่สามตามฎีกาของผู้คัดค้าน ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยเป็นผู้ชำระราคาดังกล่าวเองเพียงแต่ให้นางนันทาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเท่านั้น และผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทน
ปัญหาที่สี่ ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องได้สละสิทธิในการร้องขอให้เพิกถอนจำนองแล้ว เพราะนาวาอากาศเอกฉนาก เจริญรุกข์เคยขอให้ผู้ร้องดำเนินการร้องขอให้เพิกถอนการจำนองรายนี้ แต่นางยงยุทธ จิตรอารีย์กุล ในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเคยยกคำร้องของนาวาอากาศเอกฉนากตามความเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชาว่าผู้คัดค้านรับจำนองไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน จึงไม่อาจเพิกถอนการจำนองได้อีก ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ผู้ร้องจะเคยมีความเห็นดังกล่าวแต่ก็ปรากฏว่ามีการสั่งให้สอบสวนถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อีกครั้งแล้วจึงยื่นเป็นคำร้องขอเพิกถอนการจำนองเป็นคดีนี้ แม้ผู้ร้องจะเคยมีความเห็นไม่ร้องขอให้เพิกถอนการจำนองก็ตาม ก็ไม่ตัดอำนาจของผู้ร้องในการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการจำนองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 เพราะอำนาจในการร้องขอให้เพิกถอนไม่อาจสละได้
ปัญหาข้อสุดท้าย ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านได้ฟ้องบังคับจำนองจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บังคับจำนองและนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดและผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้โดยปลอดจำนอง การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ผู้ร้องไม่อาจขอให้เพิกถอนการจำนองและกระทำให้กระทบถึงสิทธิของผู้คัดค้านในฐานะผู้ซื้อโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 110 นั้นเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่มีค่าตอบแทนดังวินิจฉัยข้างต้น จึงฟังได้ว่าผู้คัดค้านรับจำนองไว้โดยไม่สุจริตไปด้วย แม้ผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผู้คัดค้านกลายเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดไปโดยสุจริตเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้คัดค้านเพิ่งฟ้องบังคับจำนองเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2530 หลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2529 จึงฟังไม่ได้ว่าการบังคับคดีที่ผู้คัดค้านฟ้องบังคับจำนองนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้ การบังคับคดีและการที่ผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ในคดีดังกล่าวจึงใช้ยันแก่ผู้ร้องไม่ได้ตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง
พิพากษายืน

Share