แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาเข้าร่วมทุนเป็นหุ้นส่วนกันในการตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญเพื่อดำเนินกิจการเปิด ร้านอาหารโดยมีวัตถุประสงค์หาผลกำไรแบ่งกัน ซึ่งในการร่วมทุนกันนั้นโจทก์เป็นผู้ลงหุ้นเป็นเงิน ส่วนจำเลยลงหุ้น เป็นแรงงาน เมื่อตามสัญญากำหนดให้โจทก์เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินของร้านอาหารเพียงผู้เดียวซึ่งถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญในการตกลงเข้าหุ้นทำกิจการร่วมกันในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ลงทุนเป็นเงินทั้งหมด ข้อสัญญาดังกล่าวนี้จำเลยผู้เป็นหุ้นส่วนเพียงคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เว้นแต่โจทก์หุ้นส่วนอีกคนหนึ่งจะยินยอมด้วย การที่จำเลยปิด ร้านอาหารแล้วเปิดดำเนินกิจการใหม่ในวันรุ่งขึ้น โดยห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องในกิจการร้านอาหารนั้น ก็หมายความว่าจำเลยเป็นผู้เข้ารับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินในการจัดเก็บรายได้และรายจ่ายในการดำเนินกิจการของร้านอาหารทั้งหมดแทนโจทก์ อันเป็นหน้าที่ของโจทก์ตามสัญญา จึงถือได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาที่ทำกันไว้โดยที่โจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย เป็นการขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1032 การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาเข้าหุ้นส่วนกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบการจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการภัตตาคารเสวยแอร์พอร์ต ณ อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ท่าอากาศยานกรุงเทพให้แก่โจทก์ หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนและให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหาย 1,080,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายอีกวันละ 120,000 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะส่งมอบการ จัดเก็บรายได้ของภัตตาคารแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์เป็นเงิน 20,757,105 บาท
โจทก์ให้การขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ และให้โจทก์ชำระเงิน 773,631.07 บาท แก่จำเลยตามฟ้องแย้งพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยเฉพาะเท่าที่ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์วันละ 30,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยเปิดกิจการภัตตาคารโดยไม่ยอมให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้อง เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยมอบการประกอบกิจการภัตตาคารพิพาทคืนโจทก์ หรือจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการภัตตาคาร แต่ทั้งนี้ให้จำเลยหักเงินในส่วนที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลย ทั้งสองรายการตามที่ระบุไว้ข้างต้นออกเสียก่อน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2536 โจทก์จำเลยทำสัญญาร่วมทุนเป็นหุ้นส่วนกันตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญเพื่อดำเนินกิจการเปิดร้านอาหารโดยมีวัตถุประสงค์หาผลกำไรแบ่งกัน ซึ่งในการร่วมทุนกันนั้นโจทก์เป็น ผู้ลงหุ้นเป็นเงิน ส่วนจำเลยลงหุ้นเป็นแรงงานคือจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่วางแผนและเข้าบริหารงานกิจการทั้งหมดของ ร้านอาหาร รวมทั้งยินยอมให้ใช้ชื่อร้าน “ภัตตาคารเสวย” ของจำเลยเป็นชื่อร้านที่โจทก์จำเลยร่วมหุ้นกันนี้ด้วย ทั้งได้กำหนดไว้ด้วยว่า หากการดำเนินงานมีกำไรจำเลยก็จะได้ส่วนแบ่ง แต่ถ้าการดำเนินงานขาดทุนจำเลยไม่ต้อง รับผิดชอบด้วย เมื่อสัญญาดังกล่าว เป็นสัญญาร่วมทุนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญกัน โจทก์จำเลยผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ไม่อาจที่จะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกันไว้ตามสัญญาดังกล่าวได้โดยลำพัง เว้นแต่โจทก์จำเลยจะยินยอมด้วยกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1032
ตามสัญญาข้อ 3 ที่กำหนดว่า “กรณีการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้คัดเลือกให้บริษัท (จำเลย) เป็นผู้ประกอบกิจการตามข้อ 1 ผู้ประกอบการ (โจทก์) เป็นผู้รับผิดชอบในการลงทุนทั้งหมดและจัดหาหลักประกันเพื่อวางประกันสัญญาต่อการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดเก็บรายได้และรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั้งหมด ส่วนบริษัท (จำเลย) มีหน้าที่วางแผนและเข้าบริหารกิจการทั้งหมดและเข้าทำสัญญาประกอบกิจการกับท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย” เป็นข้อกำหนดหน้าที่ของโจทก์ จำเลยในการเข้าร่วมทุนเป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการร้านอาหารกันไว้โดยชัดแจ้ง คือ นอกจากโจทก์จะลงหุ้นเป็นเงินทั้งหมดแล้ว โจทก์ยังมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินที่เป็นรายได้และรายจ่ายในการดำเนินกิจการของร้านอาหารด้วย แม้จำเลยจะเป็นผู้เข้าบริหารงานกิจการ ทั้งหมดของร้านอาคารซึ่งเป็นส่วนแรงงานที่จำเลยได้ลงเป็นหุ้นก็ตาม ดังนั้น เมื่อตามสัญญากำหนดให้โจทก์เป็น ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินของร้านอาหารเพียงผู้เดียวซึ่งถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญในการตกลงเข้าหุ้นทำกิจการร่วมกันในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ลงทุนเป็นเงินทั้งหมด ข้อสัญญาดังกล่าวนี้จำเลยผู้เป็นหุ้นส่วนเพียงคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เว้นแต่โจทก์หุ้นส่วนอีกคนหนึ่งจะยินยอมด้วย การที่จำเลยปิดร้านอาหารภัตตาคารเสวยแอร์พอร์ตในวันที่ 5 กันยายน 2537 แล้วเปิดดำเนินกิจการในวันที่ 6 กันยายน 2537 ต่อไป โดยห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องในกิจการร้านอาหารนั้น ก็หมายความว่าจำเลยเป็นผู้เข้ารับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินในการจัดเก็บรายได้และรายจ่ายในการดำเนินกิจการของ ร้านอาหารทั้งหมดแทนโจทก์ อันเป็นหน้าที่ของโจทก์ตามสัญญา จึงถือได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาที่ทำกันไว้โดยที่โจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วย เป็นการขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1032 การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นการปฏิบัติ ผิดสัญญาเข้าหุ้นส่วนกัน
อย่างไรก็ดีตามข้อเท็จจริงได้ความว่า การเข้าเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างโจทก์และจำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2542 ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยในการดำเนินกิจการร้านอาหาร จึงเป็นอันสิ้นสุด ตั้งแต่วันนั้น เมื่อความเป็นหุ้นส่วนสิ้นสุดลงแล้วจะต้องมีการชำระบัญชีหุ้นส่วนตามมาตรา 1061 แห่ง ป.พ.พ. ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า ทั้งโจทก์และจำเลยต่างต้องรับผิดต่อกันอย่างไร ดังวินิจฉัยมาแล้วก็ตาม ในชั้นนี้จึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะพิพากษาให้แต่ละฝ่ายรับผิดต่อกันตามฟ้องและฟ้องแย้งตามฎีกาของทั้งโจทก์และจำเลยที่ต่างฟังขึ้น บางส่วน เพราะอาจมีปัญหาในชั้นบังคับคดี จนกว่าจะมีการชำระบัญชีเพื่อรู้สภาพทางการเงินของหุ้นส่วนก่อน
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องและฟ้องแย้ง แต่ไม่ตัดสิทธิของโจทก์จำเลยจะว่ากล่าวกันต่อไปตามสิทธิของตนที่พึงมีโดยชอบตามกฎหมายหลังจากได้มีการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนแล้ว ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลของ ทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ.