คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3538/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนมีประเด็นพิพาทว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ส. จำนวนครึ่งหนึ่งในที่ดินพิพาททั้งหกแปลงและได้ยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยหรือไม่คู่ความตกลงท้ากันว่าให้ส่งลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายของโจทก์ซึ่งพิมพ์ต่อหน้าศาลไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายตามที่ปรากฏในหนังสือคำยินยอมของคู่สมรสเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ถ้าหากผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าลายพิมพ์นิ้วมือตามเอกสารดังกล่าวใช่หรือน่าเชื่อว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายของโจทก์ โจทก์ยอมแพ้ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่า ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจเห็นว่าลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ โจทก์จึงเป็นฝ่ายแพ้คดี คดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้อีก โดยอ้างว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งในที่ดินพิพาททั้งหกแปลง แม้คดีนี้โจทก์จะอ้างเหตุว่าจำเลยประพฤติเนรคุณรวมอยู่ด้วย แต่ประเด็นพิพาทในคดีก่อนและคดีนี้ยังคงเป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งหกแปลงเช่นเดียวกันซึ่งได้รับการวินิจฉัยมาแล้วในคดีก่อน จึงเป็นกรณีคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันเป็นฟ้องซ้ำ จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนายสงค์ ปริญจิตร เป็นสามีภรรยา ระหว่างอยู่กินด้วยกันมีทรัพย์สินเป็นที่ดินจำนวน 6 แปลง ต่อมาโจทก์กับนายสงค์ได้ตกลงยกที่ดินทั้ง 6 แปลงให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรสาวคนเล็ก ปรากฏตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 344, 345, 11, 7, 10 และ 820 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นโฉนดเลขที่ 9601, 9602, 9628, 9691, 9627 และ8446 ต่อมาเมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2535 จำเลยได้ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ ขับไล่โจทก์ออกจากบ้าน ไม่อุปการะเลี้ยงดูด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย เป็นการประพฤติเนรคุณ ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 9601, 9602, 9628, 9691, 9627 และ 8446 ให้แก่โจทก์แปลงละครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ตามโฉนด

จำเลยให้การว่า โจทก์เคยฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ที่ดินพิพาทมาครั้งหนึ่งแล้วแต่ถอนฟ้องไป ต่อมาเมื่อปี 2533 โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้อีกครั้งหนึ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ 243/2533ซึ่งต่อมาศาลได้พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 895/2534 ของศาลชั้นต้น ฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวคดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นบุตรของโจทก์เกิดกับนายประสงค์ ปริญจิตร เดิมที่ดินพิพาททั้งหกแปลงมีชื่อของนายสงค์บิดาจำเลยเป็นเจ้าของในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ต่อมามีการยกที่ดินพิพาททั้งหกแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยโจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 243/2533 และหมายเลขแดงที่ 895/2534 ของศาลชั้นต้นเรื่องให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินและที่ดินที่พิพาทกันนั้นก็เป็นที่ดินทั้งหกแปลงเช่นเดียวกันกับที่ดินพิพาทหกแปลงในคดีนี้

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 895/2534 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ที่โจทก์ฎีกาว่า ผลแห่งคำท้าของคดีเดิมมีผลผูกพันที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ 2 แปลงคือที่ดิน (น.ส.3 ก.) เลขที่ 7 และเลขที่ 11ตามคำท้าที่โจทก์แพ้คดีเท่านั้น ส่วนที่ดินพิพาทที่เหลืออีก 4 แปลง คือที่ดินพิพาทตาม (น.ส.3 ก.) เลขที่ 344, 345, 10 และ 820 ไม่เกี่ยวกับคำท้าและคู่ความสละประเด็นพิพาทแล้ว ซึ่งถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่กับจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการให้เป็นคดีนี้ได้นั้น เห็นว่า คดีก่อนมีประเด็นพิพาทว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับ นายสงค์ ปริญจิตร จำนวนครึ่งหนึ่งในที่ดินพิพาททั้งหกแปลงและได้ยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยหรือไม่ คู่ความตกลงท้ากันว่าให้ส่งลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายของโจทก์ซึ่งพิมพ์ต่อหน้าศาลไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายตามที่ปรากฏในหนังสือคำยินยอมของคู่สมรสเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 หากผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 นั้น ไม่ใช่ของโจทก์หรือไม่น่าเชื่อว่าเป็นของโจทก์ จำเลยทั้งสองยอมแพ้ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 7 และเลขที่ 11ให้แก่โจทก์ แต่ถ้าหากผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าลายพิมพ์นิ้วมือตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ใช่หรือน่าเชื่อว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายของโจทก์ โจทก์ยอมแพ้ ผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่า ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ เห็นว่า ลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายตามเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 เป็นลายพิมพ์นิ้วมือของโจทก์ โจทก์จึงเป็นฝ่ายแพ้คดีคดีถึงที่สุดแล้วการที่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนกลับมาฟ้องจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้อีกโดยอ้างว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งในที่ดินพิพาททั้งหกแปลง แม้คดีนี้โจทก์จะอ้างเหตุว่าจำเลยประพฤติเนรคุณรวมอยู่ด้วย เช่นนี้ประเด็นพิพาทในคดีก่อนและคดีนี้ยังคงเป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งหกแปลงเช่นเดียวกัน ซึ่งได้รับการวินิจฉัยมาแล้วในคดีก่อน มิใช่ศาลยังมิได้วินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่เหลืออีก 4 แปลง ซึ่งไม่เกี่ยวกับคำท้าดังฎีกาของโจทก์ไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้จึงเป็นกรณีคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันเป็นฟ้องซ้ำ จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148”

พิพากษายืน

Share