คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3537/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองอยู่ก่อนวันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ท้องที่ซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ภายในเขตเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยทั้งสองจึงยังมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ทั้งหกได้รับอนุญาตให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติมีกำหนด5 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2530 ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2535เนื้อที่ดินประมาณ 15 ไร่ 15 ไร่ 13 ไร่ 3 งาน 15 ไร่ 15 ไร่ และ10 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวาตามลำดับ โจทก์ทั้งหกได้เข้าทำนาในที่ดินแปลงที่แต่ละคนได้รับอนุญาต ต่อมาปลายเดือนพฤษภาคม 2531จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินซึ่งโจทก์ได้รับการผ่อนผันจากทางราชการให้มีสิทธิทำกินชั่วคราวดังกล่าวโดยใช้รถแทรกเตอร์ไถที่ดินดังกล่าวและไถทำลายคันนาดินของโจทก์เสียหาย ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารกับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองโจทก์ไปแจ้งความเท็จต่อทางราชการ ทางราชการจึงออกหนังสือสทก.1 ให้โจทก์ทั้งหก จำเลยที่ 1 ได้คัดค้านขอให้เพิกถอนหนังสือดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสองใช้รถไถนาในที่ดินพิพาทตามสิทธิของจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งหกฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดินตามสำเนาแบบแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย ล.6 และ ล.7 อยู่ก่อนวันที่ 20 พฤศจิกายน 2527อันเป็นวันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 1087 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 กำหนดให้ป่าบ้านโข้งในท้องที่ตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป จำเลยทั้งสองก็ย่อมยังคงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ต่อไป เพราะสิทธิดังกล่าวของจำเลยทั้งสองเป็นสิทธิในที่ดินที่จำเลยทั้งสองมีอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดินก่อนวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวนั้นใช้บังคับ จำเลยทั้งสองหาได้หมดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนับตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2527 อันเป็นวันที่กฎกระทรวงฉบับที่ 1087 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ใช้บังคับตามที่โจทก์ทั้งหกฎีกาไม่ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ทั้งหก
พิพากษายืน

Share