คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3532/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างเพื่อขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และต่อมามีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยกำหนดให้ลูกจ้างที่นัดหยุดงานกลับเข้าทำงานภายในเวลาที่กำหนด ระหว่างนั้นลูกจ้างบางส่วนได้ร่วมกันทุบทำลายทรัพย์สินของนายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างจึงมีอำนาจออกใบรายงานตัวให้ลูกจ้างลงชื่อก่อนเข้าทำงานได้เมื่อลูกจ้างไม่ยอมลงชื่อในใบรายงานตัวและไม่ยอมเข้าทำงานในช่วงเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมายย่อมเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างเลิกจ้างได้หากลูกจ้างนั้นละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันขึ้นไป

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านทั้งสองต่างเป็นกรรมการลูกจ้าง ระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2534 ถึงวันที่20 ตุลาคม 2534 ผู้คัดค้านทั้งสองต่างได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(2)(3)(4)และ (5) จึงขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้กระทำผิด ผู้ร้องเป็นฝ่ายประพฤติผิดข้อตกลงโดยสร้างเงื่อนไขขึ้นมาบังคับลูกจ้างและขัดขวางมิให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานทั้งที่ลูกจ้างทุกคนพร้อมที่จะเข้าทำงานให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องไม่มีอำนาจเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ภายหลังที่สหภาพแรงงานโอเรียนประเทศไทยยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้อง เพื่อขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและมีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม 2534โดยกำหนดให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานในวันที่ 5-7 ตุลาคม 2534 แล้วครั้นวันที่ 7 ตุลาคม 2534 ลูกจ้างกลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันทุบทำลายทรัพย์สินภายในโรงงานของผู้ร้องได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาท ผู้ร้อง เจ้าพนักงานตำรวจและแรงงานจังหวัดจึงได้ประชุมกันมีมติให้ออกใบรายงานตัวตามเอกสารหมาย ร.ค.1เพื่อให้ลูกจ้างของผู้ร้องลงชื่อก่อนเข้าทำงาน ปรากฏว่าในวันที่10 ตุลาคม 2534 นั้น ลูกจ้างรวมทั้งผู้คัดค้านทั้งสองประมาณ1,400 คน ไม่ยอมลงชื่อในใบรายงานตัวดังกล่าวเพื่อกลับเข้าทำงานและแม้จะมีการเจรจาแก้ไขปรับปรุงข้อความในใบรายงานตัวขึ้นใหม่เป็นเอกสารหมาย ร.ค.3 ก็ตาม ลูกจ้างรวมทั้งผู้คัดค้านทั้งสองประมาณ 1,200 คน ก็ไม่ยอมลงชื่อและกลับเข้าทำงานเริ่มแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไป โดยแก้ไขปรับปรุงข้อความในใบรายงานตัวขึ้นใหม่เป็นเอกสารหมาย ร.ค.2 พิเคราะห์แล้วใบรายงานตัวตามเอกสารหมาย ร.ค.1 มีข้อความระบุว่า”ข้าพเจ้าขอรายงานตัวเพื่อเข้าทำงานกับบริษัทต่อไป โดยพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความขยันขันแข็ง โดยจะตั้งใจทำงานและยินดีที่จะปฏิบัติตามระเบียบวินัยของบริษัทโดยเคร่งครัดอีกทั้งให้สัญญาว่าจะไม่สร้างปัญหาในการทำงานให้แก่บริษัทไม่กลั่นแกล้ง ไม่ข่มขู่เพื่อนร่วมงาน หรือไม่กระทำการใด ๆอันเป็นเหตุให้เพื่อนพนักงานไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่กระทำการใด ๆ ให้บริษัทได้รับความเสื่อมเสียหรือเสียหาย”และตอนท้ายมีข้อความว่า “หากข้าพเจ้าฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น ให้ถือว่าข้าพเจ้าจงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหายข้าพเจ้ายินดีให้ทางบริษัทลงโทษสถานหนักได้” สำหรับใบรายงานตัวตามเอกสารหมาย ร.ค.3 คงปรับปรุงข้อความเฉพาะตอนท้ายเป็นว่า”หากข้าพเจ้าฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น ให้บริษัทลงโทษตามกฎและระเบียบของบริษัทตามขั้นตอนของกฎหมาย” ส่วนใบรายงานตัวตามเอกสารหมาย ร.ค.2 คงมีใจความทำนองเดียวกับเอกสารหมาย ร.ค.3 แต่มีข้อความกะทัดรัดขึ้น เห็นว่าที่ผู้ร้องวางเงื่อนไขให้ลูกจ้างทุกคนต้องลงชื่อในใบรายงานตัวก่อนเข้าทำงานดังกล่าวเป็นการกระทำภายหลังที่ลูกจ้างของผู้ร้องกลุ่มหนึ่งร่วมกันทุบทำลายทรัพย์สินของผู้ร้องเสียหายเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ ทั้งที่ข้อเรียกร้องก็ได้เจรจาตกลงกันจนเป็นที่ยุติไปแล้ว แม้การกระทำดังกล่าวลูกจ้างส่วนใหญ่รวมทั้งผู้คัดค้านทั้งสองจะไม่อยู่ในข่ายที่ต้องสงสัยว่าร่วมกระทำดังกล่าวลูกจ้างส่วนใหญ่รวมทั้งผู้คัดค้านทั้งสองจะไม่อยู่ในข่ายที่ต้องสงสัยว่าร่วมกระทำผิดก็ตามแต่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างก็มีสิทธิที่จะหามาตรการป้องกันทรัพย์ของตนเองได้และในส่วนของกิจการที่ผู้ร้องกำลังดำเนินอยู่ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับการปฏิบัติของลูกจ้างนั้น ผลงานอันมีประสิทธิภาพจึงเป็นที่ปรารภนาของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จะต้องจ่ายค่าจ้างเป็นการตอบแทนดังนี้แล้วผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะหาวิธีการหรือวางมาตรการให้ลูกจ้างทำงานด้วยความขยันขันแข็งและอยู่ในระเบียบวินัยโดยเคร่งครัด ในขอบข่ายของกฎหมายอันเป็นอำนาจบริหารทั่วไปของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้าง เมื่อตามใบรายงานตัวดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นการเพิ่มภาระแก่ลูกจ้างหรือเป็นการลงโทษลูกจ้างเพียงแต่ว่าหากลูกจ้างคนใดฝ่าฝืนกฎหมายระเบียบข้อใดของบริษัทผู้ร้องก็จะได้รับการพิจารณาโทษตามความหนักเบาของการกระทำนั้นหาใช่เป็นการตราโทษลูกจ้างไม่ คงเป็นเพียงวิธีการที่ผู้ร้องนำมาใช้เพื่อเตือนสติลูกจ้างและเน้นให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในกฎและระเบียบวินัยอันเป็นหน้าที่ของลูกจ้างต้องพึงปฏิบัติอยู่แล้วเท่านั้น หาเป็นการขัดต่อกฎหมายหรือเป็นการขัดขวางลูกจ้างรวมทั้งผู้คัดค้านทั้งสองที่จะเข้าทำงานได้ตามปกติไม่ดังนั้นผู้ร้องจึงมีอำนาจที่จะออกใบรายงานตัวดังกล่าวได้เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองไม่ยอมลงชื่อในใบรายงานตัวดังกล่าวได้เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองไม่ยอมลงชื่อในใบรายงานตัวและไม่ยอมเข้าทำงานในช่วงเวลาดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมายจึงถือว่าผู้คัดค้านทั้งสองละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ผู้ร้องจึงเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองได้
พิพากษายืน

Share