คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ในตอนต้นแล้วว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดหลายกรรมต่างกันและได้บรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสามเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสามฝ่าฝืนมาตรา 31 ประกอบด้วยมาตรา 69,70 ไว้ในคำฟ้องข้อ ก. กับได้บรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสามที่ฝ่าฝืนมาตรา 40 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 69,70 ไว้ในคำฟ้องข้อ ข. และในคำขอท้ายฟ้องก็ได้อ้างมาตรา 40,69,70 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติว่า การกระทำตามคำฟ้องข้อ ข. นั้นเป็นความผิดลงไว้ กับขอให้ปรับจำเลยทั้งสามเป็นรายวันตามกฎหมายซึ่งเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 ไว้ด้วย แม้โจทก์จะมิได้อ้างมาตรา 67 อันเป็นบทลงโทษไว้ด้วยก็เห็นเจตนาได้ว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องข้อ ข. ซึ่งจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพแล้วนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสาม หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการในนามของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ
ก. จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ทำการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรม เป็นตึก 4 ชั้น 9 คูหา มีดาดฟ้า ที่ริมถนนราชปรารถแขวงมักกะสัน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร อันเป็นท้องที่ที่อยู่ในบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เมื่อระหว่างวันทีมิถุนายน 2531 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2531 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสามได้บังอาจร่วมกันจัดให้มีการก่อสร้างอาคารดังกล่าวผิดไปจากแผนผังบริเวณแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ตลอดจนผิดจากเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้กำหนดไว้ในใบอนุญาต โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2531จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2531 จึงแล้วเสร็จ รวมเป็นเวลา 127 วัน
ข. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2531 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสามดังกล่าวในข้อ ก. เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามระงับการกระทำดังกล่าวในทันทีที่ได้รับคำสั่ง จำเลยทั้งสามได้รับคำสั่งดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 11มิถุนายน 2531 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2531จำเลยทั้งสามได้บังอาจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นทำการก่อสร้างอาคารดังกล่าวต่อไปให้ผิดไปจากแบบที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จนอาคารแล้วเสร็จลงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2531 รวมเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับก่อสร้างอาคาร 114 วัน เหตุเกิดที่แขวงมักกะสัน เขตพญาไทย กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 31, 40, 42, 65, 69, 70, 71, 72, 79, 80กฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 31 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91และขอให้ปรับจำเลยทั้งสามเป็นรายวันตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 40 วรรคหนึ่ง, 65, 69, 70, 72ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือน ปรับจำเลยทั้งสามคนละ 10,000 บาท และปรับจำเลยทั้งสามอีกคนละวันละ 10,000บาท นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2531 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2531 รวม126 วัน เป็นเงินคนละ 1,260,000 บาท รวมโทษปรับคนละ1,260,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละ 3 เดือน ปรับจำเลยทั้งสามคนละ 635,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 มีกำหนด 2 ปี ส่วนความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ให้ระงับการก่อสร้างนั้น เป็นกรณีตามมาตรา 67 ประกอบด้วยมาตรา 40วรรคหนึ่ง แต่โจทก์มิได้ระบุมาตรา 67 ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง จึงให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการก่อสร้างอาคารอีกกระทงหนึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง,67, 70 ปรับจำเลยทั้งสามเป็นรายวัน วันละ 10,000 บาท รวมเวลา114 วัน เป็นเงิน 1,140,000 บาท ลดโทษให้จำเลยทั้งสามคนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยทั้งสามอีกคนละ 570,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ว่า ข้อเท็จจริงในคำฟ้องข้อ ข. ซึ่งจำเลยทั้งสามได้ให้การรับสารภาพแล้วนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ในตอนต้นแล้วว่าจำเลยทั้งสามกระทำผิดหลายกรรมต่างกันและได้บรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสามเกี่ยวกับการที่จำเลยทั้งสามฝ่าฝืนมาตรา 31 ประกอบด้วยมาตรา 69, 70 ไว้ในคำฟ้องข้อ ก. กับได้บรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสามที่ฝ่าฝืนมาตรา 40 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 69, 70 ไว้ในคำฟ้องข้อ ข. และในคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็ได้อ้างมาตรา 40, 69, 70ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำตามคำฟ้องข้อ ข. นั้นเป็นความผิดลงไว้กับขอให้ปรับจำเลยทั้งสามเป็นรายวันตามกฎหมายซึ่งเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 ไว้ด้วย แม้โจทก์จะมิได้อ้างมาตรา 67อันเป็นบทลงโทษไว้ด้วยก็เห็นเจตนาได้ว่าข้อเท็จจริงตามคำฟ้องข้อ ข. ซึ่งจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพแล้วนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสาม ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีมาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน.

Share