แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ข้อตกลงที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อความเพียงว่า “ข้อโต้แย้งซึ่งไม่สามารถยุติลงได้ด้วยการประนีประนอมระหว่างคู่สัญญาให้ได้รับการชี้ขาดและยุติโดยศาลอนุญาโตตุลาการของเดนมาร์ก” ไม่ได้ระบุแยกแยะข้อโต้แย้งที่จะให้ระงับโดยศาลอนุญาโตตุลาการของเดนมาร์กไว้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้มีการระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยวิธีอนุญาโตตุลาการเฉพาะข้อโต้แย้งที่เกิดจากสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามที่ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 และ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 บัญญัติไว้ ไม่ใช่การฟ้องเกี่ยวกับสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงไม่ใช่ข้อโต้แย้งตามข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงนำคดีมาสู่ศาลได้โดยไม่ต้องเสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจว่าจ้างและเลิกจ้างพนักงานแทน จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 435,730 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โดยมีข้อตกลงว่าในเดือนธันวาคม โจทก์จะได้รับค่าจ้างเดือนที่ 13 อีก 1 เดือน และหากจำเลยทั้งสองจะเลิกจ้างโจทก์ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 12 เดือน ตามหนังสือสัญญาจ้าง ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 จำเลยทั้งสองได้บอกเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลในวันที่ 31 พฤษภาคม 2546 โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างในช่วง 180 วันสุดท้ายคือ ค่าจ้างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2545 ถึงเดือนพฤษภาคม 2546 กับค่าจ้างเดือนที่ 13 ซึ่งโจทก์ได้รับในเดือนธันวาคม 2545 ตามที่ได้ตกลงกันไว้อีก 1 เดือน รวมเป็นเงิน 3,050,110 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ 3,050,110 บาท การที่จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขาดรายได้จากการทำงานไปจนถึงเกษียณอายุเป็นเวลา 125 เดือน คิดเป็นเงิน 54,466,250 บาท โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับเอาจากจำเลยทั้งสองได้ จึงต้องฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชย 3,050,110 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 54,466,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ก่อนวันนัดพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ข้อ 12 เรื่อง อนุญาโตตุลาการ กำหนดว่า ข้อโต้แย้งซึ่งไม่สามารถยุติลงได้ด้วยการประนีประนอมยอมความระหว่างคู่สัญญาให้ได้รับการชี้ขาดและยุติโดยศาลอนุญาโตตุลาการของเดนมาร์ก อันเป็นการตกลงให้มีการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ เหตุที่ตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการที่ประเทศเดนมาร์กก็เพราะจำเลยที่ 1 มีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก โจทก์นำคดีมาสู่ศาลโดยไม่นำข้อพิพาทไปสู่กระบวนการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเสียก่อนเป็นการผิดขั้นตอนและฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดี
วันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางสอบคู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันว่าสัญญาจ้างที่โจทก์นำมาฟ้อง มีข้อตกลงเรื่อง อนุญาโตตุลาการอยู่ในข้อ 12 และทั้งสองฝ่ายยังมิได้ผ่านกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการของประเทศเดนมาร์กจริงตามคำร้องของจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์คัดค้านว่ากรณียังมิได้มีข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้น เพราะโจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และเรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ได้กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาจ้าง จึงไม่จำต้องผ่านกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการและการตกลงให้ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการที่ประเทศเดนมาร์กทั้งๆ ที่คู่สัญญาอยู่ในประเทศไทย กฎหมายที่จะใช้บังคับเป็นกฎหมายแรงงานของประเทศไทย เป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการและเป็นช่องทางให้มีการหลีกเลี่ยงการนำคดีสู่การพิจารณาของศาลแรงงาน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องไต่สวนเรื่องอื่นอีกให้งดการไต่สวน แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า กรณีเกิดข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งและไม่สามารถยุติลงด้วยการประนีประนอมยอมความระหว่างคู่สัญญาตามความในสัญญาจ้าง ข้อ 12 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์จึงต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามข้อสัญญาดังกล่าวเสียก่อน เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาล ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นคนสัญชาติเดนมาร์ก จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย จดทะเบียนและมีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย แต่มีบริษัทแม่ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เข้าทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโดยทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยที่ 1 ที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2543 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ซึ่งมีข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการอยู่ในข้อ 12 ความว่า “ข้อโต้แย้งซึ่งไม่สามารถยุติลงได้ด้วยการประนีประนอมระหว่างคู่สัญญาให้ได้รับการชี้ขาดและยุติโดยศาลอนุญาโตตุลาการของเดนมาร์ก คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะต้องกำหนดอนุญาโตตุลาการฝ่ายละหนึ่งนาย และศาลจะเป็นผู้กำหนดอนุญาโตตุลาการนายที่สาม” ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2545 จำเลยทั้งสองได้บอกเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลในวันที่ 31 พฤษภาคม 2546 ครั้นวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ เรียกให้จ่ายค่าชดเชยและใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอ้างว่าถูกจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิด โดยโจทก์ไม่ได้เสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดก่อน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งตามข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 12 หรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อความเพียงว่า “ข้อโต้แย้งซึ่งไม่สามารถยุติลงได้ด้วยการประนีประนอมระหว่างคู่สัญญาให้ได้รับการชี้ขาดและยุติโดยศาลอนุญาโตตุลาการของเดนมาร์ก” ไม่ได้ระบุแยกแยะข้อโต้แย้งที่จะให้ระงับโดยศาลอนุญาโตตุลาการของเดนมาร์กไว้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ประสงค์จะให้มีการระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยวิธีอนุญาโตตุลาการเฉพาะข้อโต้แย้งที่เกิดจากสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 บัญญัติไว้ ไม่ใช่การฟ้องเกี่ยวกับสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงไม่ใช่ข้อโต้แย้งตามข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 12 โจทก์จึงนำคดีมาสู่ศาสได้โดยไม่ต้องเสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดก่อน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่น”
พิพากษายกคำสั่งศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี