คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2552/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประเด็นที่ว่าจำเลยได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือที่พิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นที่เกี่ยวพันหรือรวมอยู่ในประเด็นข้อพิพาทที่ว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1มีสิทธิครอบครองที่พิพาท เมื่อจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลไม่อาจหยิบยกประเด็นเรื่องเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือขึ้นมาวินิจฉัยได้.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอศาลพิพากษาว่าที่พิพาทตามฟ้องโจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของ ให้จำเลยทั้งสองถอนคำร้องขอออกโฉนดทับที่ดินทั้ง 28 ไร่ ของโจทก์ทั้งสองที่ได้ยื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาท ห้ามมิให้เกี่ยวข้องอีกต่อไป กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ในอัตรา 10,000 บาท ต่อปี และให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 และเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ที่ 2
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่พิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์เป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีผู้ใดเข้าครอบครองเป็นเจ้าของโจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิครอบครองในที่พิพาท จำเลยที่ 1 ได้เข้าจับจองที่พิพาทโดยความสงบ เปิดเผยโดยเจตนาเป็นเจ้าของปลูกบ้านอยู่อาศัยทำประโยชน์ ปลูกไม้ยืนต้น ตั้งแต่เข้าครอบครองเป็นเวลา 20 ปีเศษโจทก์ทั้งสองไม่เคยโต้แย้งคัดค้านและไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2516 จำเลยที่ 1 ตกลงขายสิทธิในที่พิพาทซึ่งเป็นที่มือเปล่าของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 500,000บาท แล้วส่งมอบการครอบครองให้จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมาโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง จำเลยที่ 2 จึงได้สิทธิในที่พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่พิพาทในฐานะผู้มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องกับที่พิพาทและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง โจทก์ที่ 2 อ้างว่าได้เข้าครอบครองที่พิพาทมาตั้งแต่ปี 2492 ส่วนโจทก์ที่ 1 อ้างว่าได้ซื้อฝากและเข้าครอบครองที่พิพาทมาตั้งแต่ปี 2511 แต่โจทก์ทั้งสองเพิ่งมาฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ (ปี 2517) ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 2 ถึงแก่กรรม นายครรชิต กูรมะโรหิตทายาทของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องโจทก์ที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาททั้งหมดมาตั้งแต่ปี 2494 โดยจำเลยที่ 1อยู่ในฐานะผู้ครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ที่ 2 แต่ต่อมาจำเลยที่ 1ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ที่ 2 แล้วว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือทรัพย์สิน (ที่พิพาท) แทนโจทก์ที่ 2 ต่อไปอันเป็นการแย่งการครอบครองตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมาส่วนโจทก์ที่ 1 เมื่อรับซื้อฝากที่พิพาทจากโจทก์ที่ 2 แล้วได้มอบให้โจทก์ที่ 2 ดูแลต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะการครอบครองต่อโจทก์ที่ 2 แล้วก็ย่อมมีผลถึงโจทก์ที่ 1 ด้วย แม้โจทก์ทั้งสองจะเพิ่งทราบว่าจำเลยที่ 1 แย่งการครอบครองเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2516 และได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2517 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์ทั้งสองทราบก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองจะต้องฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหาใช่นับแต่วันที่ทราบไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี จึงล่วงพ้นเวลาที่จะเรียกคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 และเมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองที่พิพาทแล้ว ก็เป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 จะขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ได้และจำเลยที่ 2 ซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าเสียหาย พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่พิพาทตามฟ้อง ให้จำเลยทั้งสองถอนคำร้องขอออกโฉนดทับที่พิพาทซึ่งได้ยื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาทกับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 10,000 บาทต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่พิพาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่พิพาทซึ่งโจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นของตนเป็นคนละแปลงกับที่ดินที่จำเลยที่ 1ครอบครองนั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้มาโดยชัดแจ้ง จึงไม่มีประเด็นดังกล่าว แม้จำเลยทั้งสองนำสืบมาก็เป็นการนำสืบนอกประเด็นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีนี้ประเด็นพิพาทมีว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองที่พิพาท ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 บัญญัติว่า “บุคคลใดยึดทรัพย์สินโดยเจตนายึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้สิทธิครอบครอง”ดังนั้น ถึงแม้จำเลยทั้งสองจะไม่ได้ให้การในประเด็นเรื่องเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไว้ ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนายึดถือที่พิพาทเพื่อตนเองหรือไม่ อันเป็นการวินิจฉัยและชี้ขาดตัดสินคดีไปตามประเด็นที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 183 นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่าโจทก์ที่ 2 เป็นฝ่ายมีสิทธิครอบครองที่พิพาทส่วนหนึ่งเพื่อตนเองกับครอบครองที่พิพาทอีกส่วนหนึ่งแทนโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ได้ให้จำเลยที่ 1 อาศัยทำกินในที่พิพาททั้งสี่แปลงดังนั้น การครอบครองที่พิพาทดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่การยึดถือเพื่อตนเองตามที่ต่อสู้มา แต่เป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ที่ 2 แม้จะครอบครองอยู่นานเท่าใดก็ถือว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่อาจยกเอามาตรา 1375แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้นอ้างได้ นอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 เสียก่อน แต่จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือแต่อย่างใดเลย ทั้งประเด็นในเรื่องนี้ก็มิใช่ประเด็นที่เกี่ยวพันหรือรวมอยู่ในประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1มีสิทธิครอบครองที่พิพาทศาลไม่อาจหยิบยกประเด็นเรื่องเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือขึ้นมาวินิจฉัยได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองฎีกาในเรื่องค่าเสียหายว่าโจทก์ทั้งสองเบิกความเรื่องค่าเสียหายลอย ๆ ไม่ได้นำบุคคลที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าเสนอผลตอบแทนให้โจทก์ทั้งสองในการที่จะเข้าทำประโยชน์ในที่พิพาทมาเบิกความสนับสนุน จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองเสียหายจริงดังฟ้องนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสองไม่นำบุคคลที่เสนอผลตอบแทนให้โจทก์ทั้งสองมาสืบ แต่ก็ได้ความจากคุณหญิงพงาดุลยธรรมธาดาราชวรสภาบดี ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 1 ว่า ที่พิพาทส่วนของโจทก์ที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 1 ทำกินจะได้กำไรสุทธิจากการทำไร่ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 บาท เนื่องจากตนได้มาที่พิพาทบ่อย ๆ ได้เห็นการทำไร่ นอกจากนี้นายครรชิต กูรมะโรหิต ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 2 และเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 2 ก็เบิกความว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายเพราะไม่อาจเข้าทำประโยชน์ในที่พิพาท เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 2 คิดเป็นเงินปีละ40,000 บาท ซึ่งข้อเท็จจริงที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความมาดังกล่าวจำเลยทั้งสองก็ไม่นำสืบหักล้างหรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 10,000 บาทต่อปี จึงเหมาะสมดีแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share