คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2955/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะเป็นกรรมการสหภาพแรงงานการประปาแห่งประเทศไทยและเป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องที่สหภาพแรงงานการประปาแห่งประเทศไทยยื่นต่อจำเลยและยังอยู่ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ในเรื่องไม่สามารถทำงานให้แก่รัฐวิสาหกิจได้เต็มเวลา จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้ โดยถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2525 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและมิได้สอบสวนโดยตั้งกรรมการสอบสวนตามข้อบังคับการประปานครหลวง โจทก์เชื่อว่าเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ร้องเรียนกล่าวโทษพนักงานการเงินว่าทุจริตต่อผู้ว่าการประปานครหลวง รองผู้ว่าการประปานครหลวงเรียกโจทก์ไปขอให้ถอนคำร้องเรียน โจทก์ไม่ยอมถอน จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 โจทก์และลูกจ้างอื่นในฐานะกรรมการสหภาพแรงงานการประปาแห่งประเทสไทยได้ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลยเรื่องยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การเลิกจ้างของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 และไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเดือนและประโยชน์อื่นให้โจทก์ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเดิม ถ้าไม่สามารถรับโจทก์เข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์แทน

จำเลยให้การว่า จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์ขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานของจำเลย เป็นผลให้พ้นจากสภาพการเป็นพนักงานโดยกฎหมาย กล่าวคือโจทก์เคยเป็นพนักงานเก็บเงินขององค์การโทรศัพท์และถูกลงโทษทางวินัยให้ออกจากงานเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่มาก่อน เป็นการขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับการประปานครหลวงนอกจากนี้โจทก์ยังขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ในเรื่องที่ไม่สามารถทำงานให้แก่รัฐวิสาหกิจนั้นได้เต็มเวลา ปรากฏว่าขณะโจทก์ปฏิบัติงานอยู่กับจำเลยนั้นในระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม 2512 ถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2519 โจทก์ปฏิบัติงานที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะได้รับสิทธิหรือหาประโยชน์อื่นใด การให้ออกเพราะขาดคุณสมบัติไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระทำผิดวินัย จำเลยจึงไม่จำต้องตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ก่อนโจทก์ไม่ใช่กรรมการสหภาพแรงงานการประปาแห่งประเทศไทยและไม่ได้เป็นตัวแทนลูกจ้างในการเจรจาข้อเรียกร้องแต่เป็นเพียงที่ปรึกษาในการเจรจาข้อเรียกร้องเท่านั้น จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขาดคุณสมบัติและมิใช่เป็นการให้ออกจากงานเพราะโจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย แม้จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานโดยมิได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการสอบสวนก่อนก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 มุ่งที่จะคุ้มครองลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้างกรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงานหรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเพื่อมิให้นายจ้างยกเหตุขึ้นอ้างเพื่อเลิกจ้างบุคคลตามบทบัญญัติมาตรานี้เท่านั้น หาได้คุ้มครองเลยไปถึงลูกจ้างที่ไม่อยู่ในสภาพที่จะเป็นลูกจ้างได้เช่น เป็นผู้ขาดคุณสมบัติไม่และจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 14 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้กรรมการหรือพนักงานของรัฐวิสหกิจซึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 9 (3) ดังนี้ ถึงแม้โจทก์จะเป็นกรรมการสหภาพแรงงานการประปาแห่งประเทศไทยและเป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องที่สหภาพแรงงานการประปาแห่งประเทศไทยยื่นต่อจำเลยเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานประจำ และยังอยู่ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องก็ตาม จำเลยก็อยู่ในฐานะที่จะต้องดำเนินการให้โจทก์พ้นตำแหน่งหรือเลิกจ้างโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 14 ซึ่งจำเลยย่อมกระทำได้โจทก์จะยกสิทธิตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 ขึ้นอ้างหาได้ไม่

พิพากษายืน

Share