แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลภายใน 15 ปีนับแต่วันกระทำความผิด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 แม้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด แต่การที่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไประหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยทั้งสองมาศาล และจำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจศาลไม่ได้ อายุความจึงยังไม่หยุดนับ เมื่อปรากฏว่าขณะที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 18 มกราคม 2553 นั้นเป็นเวลาเกิน 15 ปี นับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง คดีโจทก์สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ย่อมขาดอายุความ
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยทั้งสองยังไม่อยู่ในอำนาจของศาลจนกว่าศาลจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา การที่ศาลหมายแจ้งวันนัดไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบ จำเลยทั้งสองมีสิทธิไม่มาศาลในวันนัดได้ เพราะหมายเรียกดังกล่าวเป็นเพียงแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบวันนัดไต่สวนมูลฟ้องเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองมาฟังการพิจารณาของศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจศาล ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) และจะนำบทบัญญัติทางแพ่งเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงเมื่อฟ้องคดีมาใช้บังคับไม่ได้เพราะ ป.อ. มาตรา 95 บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะแล้ว
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคหนึ่ง เป็นกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องคดี หรือประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องคดีในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอัยการสูงสุด แต่กรณีที่โจทก์เป็นผู้ฟ้องคดีเองเช่นนี้ ตามมาตรา 97 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อคดีของโจทก์มิใช่คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง กรณีไม่ต้องตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง ศาลจะมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนไม่ได้
แม้ความผิดตามที่โจทก์ฟ้องจะเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่การพิจารณาว่าความผิดฐานใดขาดอายุความต้องพิจารณาจากอายุความของความผิดฐานนั้นๆ เป็นหลัก มิใช่พิจารณาจากความผิดที่มีโทษหนักที่สุด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 149, 154, 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีโจทก์มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และ 154 ประกอบมาตรา 83 ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขาดอายุความ มีคำสั่งประทับฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 154 ประกอบมาตรา 83 ไว้พิจารณา ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ (1)..( 2 ) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี …” ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงมีอายุความ 15 ปี โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายใน 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 แม้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 อันเป็นการฟ้องภายในอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) กล่าวคือ ฟ้องภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 แล้วก็ตาม แต่มาตรา 95 (2) บัญญัติไว้ชัดว่า ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้ว คดีจึงจะไม่ขาดอายุความ การที่ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไป ระหว่างนั้นจะถือว่าได้ตัวจำเลยทั้งสองมายังศาลและจำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจศาลแล้วไม่ได้ อายุความจึงยังไม่หยุดนับ เมื่อปรากฏว่าขณะที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง ในวันที่ 18 มกราคม 2553 นั้นเป็นเวลาเกินสิบห้าปี นับแต่วันที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องแล้ว คดีของโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ย่อมขาดอายุความ ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดอายุความ แม้ศาลจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อน แต่เมื่อศาลแจ้งวันนัดไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบและจำเลยทั้งสองได้รับหมายเรียกของศาลภายในกำหนดอายุความ ถือได้ว่าโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดอายุความแล้ว อายุความดังกล่าวย่อมสะดุดหยุดลงนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองได้รับหมายเรียก นอกจากนี้ในการไต่สวนมูลฟ้องทุกครั้งจำเลยทั้งสองมาร่วมฟังการพิจารณา โดยมีการแถลงโต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลด้วย กรณีก็ถือว่าจำเลยทั้งสองอยู่ในอำนาจศาลโดยสมัครใจแล้ว เห็นว่า ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยทั้งสองยังไม่อยู่ในอำนาจของศาลจนกว่าศาลจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา การที่ศาลมีหมายแจ้งวันนัดไต่สวนมูลฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบ จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะไม่มาศาลในวันนัดได้เพราะหมายเรียกดังกล่าวเป็นเพียงหมายแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบวันนัดไต่สวนมูลฟ้องเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองได้รับหมายดังกล่าวรวมทั้งการที่จำเลยทั้งสองมาฟังการพิจารณาของศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองเข้ามาอยู่ในอำนาจศาลแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ( 2 ) และจะนำบทบัญญัติในทางแพ่งเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงเมื่อฟ้องคดีมาใช้บังคับไม่ได้เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การฟ้องคดีนี้เป็นการดำเนินการตามมาตรา 97 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งมาตราดังกล่าว วรรคหนึ่งกำหนดว่าในกรณีที่ข้อกล่าวหาใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ามีความผิดทางอาญา ให้ประธานกรรมการส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยให้ถือว่ารายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง ดังนั้นเมื่อคณะทำงานร่วมของ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดไม่สามารถหาข้อยุติได้ โจทก์ประสงค์จะยื่นฟ้องคดีตามที่มาตรา 97 วรรคสอง ให้อำนาจไว้ย่อมต้องนำหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งมาบังคับใช้ด้วย กล่าวคือศาลต้องประทับฟ้องคดีนี้โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง นั้น เห็นว่า กรณีที่ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องคดีหรือประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ฟ้องคดีในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอัยการสูงสุด แต่ในกรณีที่โจทก์เป็นผู้ฟ้องคดีเองเช่นคดีนี้ ตามมาตรา 97 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง หากกฎหมายประสงค์ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา โดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง ก็ต้องบัญญัติไว้ให้ชัดแจ้ง หรือบัญญัติให้นำบทบัญญัติในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อคดีของโจทก์มิใช่คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความตามฎีกาของโจทก์ว่า ก่อนฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองมีมูลเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 , 154, 157 และส่งรายงานเอกสารไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสอง แต่อัยการสูงสุดเห็นว่า รายงานเอกสารและความเห็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งไปยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีได้ จึงตั้งคณะทำงานพิจารณาร่วมกัน แต่คณะทำงานทั้งสองฝ่ายไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้เอง กรณีไม่ต้องตาม มาตรา 97 วรรคหนึ่ง ศาลจะมีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้โดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนไม่ได้ ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องเพื่อให้ได้ความแน่ชัดย่อมเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 , 154 และ 157 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท การพิจารณาเรื่องอายุความฟ้องร้องคดีอาญากรณีที่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องถือกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเป็นหลักในการวินิจฉัยเรื่องอายุความ ดังนั้น เมื่อความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 154 มีอายุความ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (1) ซึ่งอายุความครบวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 ความผิดทั้งสองมาตรายังไม่ขาดอายุความ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงไม่ขาดอายุความเช่นกัน นั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าความผิดฐานใดขาดอายุความ ต้องพิจารณาจากอายุความของความผิดฐานนั้น ๆ เป็นหลัก มิใช่พิจารณาจากความผิดฐานที่มีโทษหนักที่สุดเป็นหลักดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โจทก์ฟ้องแต่ไม่ได้ตัวจำเลยทั้งสองมายังศาลภายใน 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีของโจทก์สำหรับความผิดฐานดังกล่าวจึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน