คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3529/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสองให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินอัตราแลกเปลี่ยนตามมาตรานี้หมายถึงอัตราแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรีในเวลาที่ได้ใช้เงินจริง ซึ่งตามปกติจะคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ขายเงินตราต่างประเทศในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์แต่เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี จึงให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์ขอปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้ซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์อะไหล่เครื่องบินจากโจทก์เพื่อใช้ในกิจการบริการขนส่งทางอากาศของจำเลยหลายครั้ง นอกจากนี้จำเลยยังจ้างโจทก์ซ่อมแซมชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องบิน คือ เวอร์ติคัลไจโร(ertical Gyro) และวาล์ว (alves) โจทก์ได้ซ่อมแซมอุปกรณ์ดังกล่าวและส่งมอบให้แก่จำเลยแล้ว เมื่อหนี้ถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์จึงขอคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องจำนวน 5,593.77 ดอลลาร์สหรัฐรวมเป็นหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระจำนวน 85,938.30 ดอลลาร์สหรัฐโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 85,938.30 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 80,244.53 ดอลลาร์สหรัฐนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์รายการสินค้าและค่าบริการค้างชำระเป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นฝ่ายเดียว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การคิดดอกเบี้ยไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 85,938.30 ดอลลาร์สหรัฐพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 80,244.53ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 19 มีนาคม 2541)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราอ้างอิงของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่มีคำพิพากษานี้ถ้าไม่มีอัตราอ้างอิงในวันดังกล่าว ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราอ้างอิงนั้นก่อนวันพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์หรือไม่เพียงใด ได้ความจากนายคริสโตเฟอร์ แอนกัส เดรค ไวท์ไซด์ กรรมการผู้จัดการโจทก์ว่าเมื่อเดือนธันวาคม 2539 จำเลยได้สมัครเป็นลูกค้าของโจทก์โดยขอเปิดบัญชีสินเชื่อกับโจทก์ในวงเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ทั้งนี้ จำเลยจะต้องชำระเงินค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้าภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าแต่ละฉบับหลังจากนั้นจำเลยได้สั่งซื้อสินค้าอุปกรณ์และอะไหล่เครื่องบินไปจากโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 76,849.02 ดอลลาร์สหรัฐและได้ว่าจ้างโจทก์ซ่อมแซมอุปกรณ์และอะไหล่เครื่องบินคือเวอร์ติคัลไจโร และวาล์ว อีก 5,374.30 ดอลลาร์สหรัฐแต่จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียง 2,336.50 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นนอกจากคำให้การของนายคริสโตเฟอร์ แอนกัส เดรค ไวท์ไซด์ แล้วโจทก์ยังมีใบสั่งซื้อสินค้า ใบกำกับสินค้าและใบตราส่งทางอากาศเป็นพยานด้วย ที่หัวกระดาษใบสั่งซื้อสินค้า 10 ฉบับแรกมีชื่อเดิมของบริษัทจำเลยพร้อมที่อยู่ของสำนักงานใหญ่3 ฉบับหลังเป็นชื่อใหม่ และทุกฉบับกำหนดให้โจทก์ส่งสินค้าไปให้จำเลย ณ ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ประเทศไทย ส่วนใบกำกับสินค้าและใบตราส่งทางอากาศได้ระบุชื่อสินค้าจำนวน ราคา หมายเลขรหัส ของสินค้า และหมายเลขใบสั่งซื้อของจำเลยพร้อมวันเดือนปีที่สั่งซื้อสินค้าครบถ้วนประกอบกับนายอุดม ตันติประสงค์ชัย กรรมการผู้จัดการจำเลยเองก็ยอมรับว่าเคยติดต่อสั่งซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์อะไหล่เครื่องบินจากโจทก์หลายครั้งและได้ลงลายมือชื่ออนุมัติในใบสั่งซื้อฉบับที่ 1 และที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.4 ทั้งเคยว่าจ้างโจทก์ซ่อมแซมอุปกรณ์อะไหล่จริงแต่ไม่ทราบจำนวนเงินที่แน่นอน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าและค่าจ้างซ่อมแซมอุปกรณ์อะไหล่เครื่องบินตามฟ้องจริงที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ได้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์เพราะใบสั่งซื้อสินค้าบางฉบับไม่มีลายมือชื่อของจำเลยนั้น เห็นว่า นายอุดมกรรมการผู้จัดการจำเลยยอมรับแล้วว่าเคยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์หลายครั้งและเป็นคนลงลายมือชื่ออนุมัติในใบสั่งซื้อสินค้าฉบับที่ 1 และที่ 2ตามเอกสารหมาย จ.4 ประกอบกับจำเลยได้รับสินค้าจากโจทก์ตามใบกำกับสินค้าและใบตราส่งทางอากาศดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นดังนั้นแม้ใบสั่งซื้อสินค้าบางฉบับจะไม่มีลายมือชื่อของจำเลยจำเลยก็ต้องรับผิดตามสัญญาอยู่ดี ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดในจำนวนเงินตามฟ้องจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยตามอัตราอ้างอิงของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษานั้น ยังไม่ถูกต้องเพราะการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 196 วรรคสอง ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน อัตราแลกเปลี่ยนตามมาตรานี้หมายถึงอัตราแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรีในเวลาที่ได้ใช้เงินจริง ซึ่งตามปกติจะคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ขายเงินตราต่างประเทศในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์ แต่เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี จึงให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์”
พิพากษาแก้เป็นว่า เงินดอลลาร์สหรัฐให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราแลกเปลี่ยน ดอลลาร์ ละ 41.01 บาท ตามที่โจทก์ขอนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share