คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1955/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง ประกันภัย ละเมิด รับช่วงสิทธิ
++ โปรดดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
++ เล่มที่ 8 หน้า 53 ++
++ ขอดูชุดพิเศษโปรดติดต่อห้องบริการเอกสารสำเนาคำพิพากษา (ห้องสมุด) ชั้น 4, 5 ++

ย่อยาว

เรื่อง ประกันภัย ละเมิด รับช่วงสิทธิ
จำเลยที่ ๒ ฎีกาคัดค้าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ ๒๗ เดือน เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๑
ศาลฎีกา รับวันที่ ๑ เดือน ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๓๗ เวลาประมาณ๑๔ นาฬิกา นางสาวทิพวัลย์ จริยาวัฒนานนท์ ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน๕ ฐ • ๑๖๗๔ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นของบริษัท ว.ชาญวัฒนา จำกัดและได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ ไปตามถนนรังสิต-นครนายก มุ่งหน้าไปตลาดรังสิต เมื่อถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๑๑ ถึง ๑๒ ถนนรังสิต-นครนายกตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ได้เฉี่ยวชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๔ ย – ๒๘๖๒ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับทั้งนี้ โดยจำเลยที่ ๑ ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวออกจากวิทยาลัยการปกครองตัดข้ามถนนไปยังด้านรังสิตด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูง ไม่ได้ระมัดระวังดูความปลอดภัยของรถทางตรงให้ดีเสียก่อนนางสาวทิพวัลย์ไม่สามารถห้ามล้อได้ทันเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ขับ และทำให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย กันชนหน้ายุบ กระจกบังลมหน้าแตก ฝากระโปรงหน้าบุบและอื่น ๆ ตามสำเนาภาพถ่ายท้ายฟ้อง โจทก์จัดการซ่อมแซมและเสียค่าใช้จ่ายไปทั้งสิ้น ๒๒๐,๖๓๘ บาท เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๘ จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิด คือจำเลยที่ ๑ และจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ขับและเป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ ๑ ทั้งนี้เพราะขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ โจทก์ได้ติดต่อทวงถามไปยังจำเลยทั้งสองแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยโจทก์จึงคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๒๒๐,๖๓๘ บาท นับจากวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๘ถึงวันฟ้องเป็นเงินค่าดอกเบี้ย ๘,๕๙๖ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ๒๒๙,๒๓๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒๒๐,๖๓๘ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๔ ย – ๒๘๖๒ กรุงเทพมหานคร แต่จำเลยที่ ๑สังกัดหน่วยงานอื่นและขณะเกิดเหตุไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างวานใช้ของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริงและไม่ได้ทวงถามจากจำเลยที่ ๒จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นหมายเรียกกรมราชทัณฑ์เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำร้องขอของโจทก์ โดยจำเลยร่วมให้การว่าจำเลยที่ ๑ มิได้กระทำการตามคำสั่งหรือในทางการที่จ้างของจำเลยร่วมเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของนางสาวทิพวัลย์ จริยาวัฒนานนท์ซึ่งขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงจึงเกิดเหตุเฉี่ยวชนกัน จำเลยร่วมจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ร่วมกันชดใช้เงิน ๒๒๐,๖๓๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๘,๐๐๐ บาท ยกฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วม
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ก่อนเกิดเหตุทางวิทยาลัยการปกครองซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ ๒ ได้ขอกำลังผู้ต้องขังหรือนักโทษจากสถานกักขังกลางธัญบุรีซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยร่วมมาตัดหญ้าในพื้นที่ของวิทยาลัยการปกครองโดยวิทยาลัยการปกครองเป็นผู้จัดรถรับและส่งผู้ต้องขังหรือนักโทษที่ทำงานให้ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยร่วมได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๔ ย – ๒๘๖๒ กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ โดยประมาทเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๕ ฐ – ๑๖๗๔ กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน๕ ฐ – ๑๖๗๔ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเอาประกันไว้กับโจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ซ่อมแซมรถยนต์คันดังกล่าวแล้ว จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ขับทำละเมิดในคดีนี้และจำเลยที่ ๑ เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยร่วม โดยขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ได้กระทำการไปในทางการที่จ้างวานใช้ของจำเลยที่ ๒ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยว่าจ้างอู่วีระเซอร์วิสซ่อมแซมรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๕ ฐ – ๑๖๗๔ กรุงเทพมหานครเฉพาะค่าแรงเป็นเงิน ๔๕,๐๐๐ บาท ส่วนค่าอะไหล่นั้นโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ตามบิลเงินสด ใบสั่งซ่อมและใบวางบิลค่าอะไหล่สินค้าเอกสารหมาย จ.๑๑ และได้ทวงถามให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ทำละเมิดจำเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้างหรือตัวการซึ่งต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดดังกล่าวชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระให้
จำเลยที่ ๒ นำสืบว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๔ ย – ๒๘๖๒ กรุงเทพมหานครของวิทยาลัยการปกครองรับผู้ต้องขังหรือนักโทษกลับไปสถานกักขังกลางธัญบุรีโดยมีนายสำรวย คงคา เจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยการปกครองนั่งในรถยนต์คันดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นการกระทำโดยพลการของจำเลยที่ ๑จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย อีกทั้งค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริง
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ประการแรกมีว่า จำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ หรือไม่ จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ได้อนุญาตหรือยินยอมให้จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๔ ย – ๒๘๖๒กรุงเทพมหานคร ไปส่งผู้ต้องขังหรือนักโทษยังสถานกักขังกลางธัญบุรีแต่ประการใด จำเลยที่ ๑ กระทำไปโดยพลการโดยฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. ๒๕๒๓ เอกสารหมาย ล.๓และระเบียบวิทยาลัยการปกครองว่าด้วยการใช้รถยนต์ของวิทยาลัยการปกครอง ฝ่ายฝึกอบรมและพัฒนา พ.ศ. ๒๕๓๐ เอกสารหมาย ล.๔ในปัญหาข้อนี้โจทก์มีนายปรีชา สายสุวรรณนที ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจำเลยที่ ๒ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยที่ ๒จำเลยที่ ๒ เป็นตัวการและเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ขับจำเลยที่ ๒ จ้างวานใช้ให้จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ในฐานะตัวแทนเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยที่ ๒ ส่วนจำเลยที่ ๒ มีนายพิสิฐ นรัตถรักษาซึ่งเคยรับราชการเป็นนิติกรอยู่ที่กรมการปกครอง นายเจริญ ถือคำผู้ช่วยหัวหน้างานอาคารและสถานที่ วิทยาลัยการปกครองและนายนครสุสัณจิตพงษ์ หัวหน้างานอาคารและสถานที่ วิทยาลัยการปกครองต่างเบิกความได้ความว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์ของวิทยาลัยการปกครองคันเกิดเหตุ แต่ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยพลการและเกิดการเฉี่ยวชนกันขึ้น แต่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเบิกความเป็นพยานของจำเลยที่ ๒ และจำเลยร่วมเบิกความว่า โดยปกติจำเลยที่ ๑ จะได้รับมอบหมายให้ไปทำงานที่วิทยาลัยการปกครองเป็นประจำ จำเลยที่ ๑จึงมีความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่วิทยาลัยการปกครอง ในขณะที่อยู่ในวิทยาลัยการปกครอง จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์คันดังกล่าวให้นักโทษเก็บขยะในวันเกิดเหตุนายสำรวย คงคา เจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยการปกครองซึ่งสนิทสนมกันอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับรถออกมาจากวิทยาลัยการปกครองและเกิดการเฉี่ยวชนกันขึ้น นอกจากนี้ยังมีนายประสิทธิทักษะกรวงศ์ ตำแหน่งนิติกร ๕ กรมราชทัณฑ์ พยานของจำเลยร่วมเบิกความว่า จากการตรวจสอบสาเหตุที่จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ในวันเกิดเหตุเนื่องจากเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยการปกครองไม่ว่างในช่วงเช้าที่จะขับรถยนต์นำผักตบชวาไปทิ้ง จึงมอบหมายให้จำเลยที่ ๑ ขับแทน และเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจนถึงในตอนกลับจึงให้จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์กลับไปเอง โดยเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยการปกครองนั่งรถยนต์คันดังกล่าวด้วยจากคำเบิกความของพยานจำเลยที่ ๒ และจำเลยร่วมดังกล่าวมีข้อแตกต่างกันในข้อที่ว่า จำเลยที่ ๑ ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ให้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุหรือไม่ โดยพยานฝ่ายจำเลยที่ ๒ และวิทยาลัยการปกครองยืนยันว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยพลการ ส่วนจำเลยที่ ๑ และนายประสิทธิพยานของจำเลยร่วมต่างยืนยันว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยได้รับอนุญาตจากนายสำรวย เจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยการปกครองซึ่งเป็นส่วนราชการในสังกัดของจำเลยที่ ๒ เมื่อปรากฏว่านายเจริญและนายนครเบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ ๑ ได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยมีนายสำรวยอยู่ในรถคันเกิดเหตุด้วย เป็นการเจือสมกับคำเบิกความของคำเบิกความของจำเลยที่ ๑ และนายประสิทธิ์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยการปกครอง เมื่อนายสำรวยเจ้าหน้าที่วิทยาลัยการปกครองซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ อนุญาตให้จำเลยที่ ๑ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แม้ว่าจำเลยที่ ๒และวิทยาลัยการปกครองจะมีระเบียบว่าด้วยการใช้รถยนต์เป็นประการใดก็ตาม ก็เป็นระเบียบที่ใช้บังคับกันเป็นการภายในของจำเลยที่ ๒ไม่อาจนำมาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดนั้นด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๒๗ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยที่จำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดแล้ว จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องให้จำเลยที่ ๒ รับผิดได้ ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ประการสุดท้ายมีว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด จำเลยฎีกาว่า โจทก์ประเมินค่าเสียหายแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ เข้าร่วมตรวจสอบด้วย และค่าเสียหายของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๑๑ก็สูงเกินไป เห็นว่า เมื่อเกิดเหตุแล้วเจ้าหน้าที่ในวิทยาลัยการปกครองก็ทราบเรื่องดี แต่ก็ไม่ได้ติดตามเรื่องการประเมินค่าเสียหายของโจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ประเมินค่าเสียหายแต่เพียงฝ่ายเดียวได้เมื่อพิเคราะห์ภาพถ่ายหมาย จ.๖ แล้ว เห็นว่า รถยนต์ที่ถูกชนได้รับความเสียหายมาก เมื่อพิจารณาประกอบกับรายละเอียดในการซ่อมตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.๑๐ และใบเสร็จรับเงินค่าอะไหล่เอกสารหมาย จ.๑๑ แล้วเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรและจำเลยที่ ๒ก็มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ชำระค่าซ่อมรถยนต์คันเกิดเหตุที่โจทก์รับประกันภัยไว้ตามเอกสารดังกล่าวฎีกาของจำเลยที่ ๒ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share