คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3527/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์รายวันเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2534 และในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 ครบกำหนดที่เจ้าหนี้ทั้งหลายจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2534 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ (ล.54)ซึ่งเป็นแบบพิมพ์คำร้องทั่วไปของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเฉลี่ยหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นว่า”คืนคำร้องไปทำมาใหม่ ให้หมายแจ้งเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ให้ถูกต้องตามแบบในระเบียบคดีล้มละลาย” ในตอนท้ายหน้าแรกของคำร้องได้มีหมายเหตุว่า ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้วดังนั้นเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งคำร้องในวันเดียวกันกับวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง จึงถือว่าผู้ร้องได้ทราบคำสั่งแล้วโดยไม่ต้องมีหมายแจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องทราบอีก ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวนี้เป็นการสั่งไม่รับคำร้องนั่นเอง ผู้ร้องจะต้องทำคำขอรับชำระหนี้ตามแบบพิมพ์ (ล.29)ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ใหม่ภายในกำหนดคือภายในวันที่22 กรกฎาคม 2534 การที่ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามแบบ(ล.29) เข้ามาใหม่เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2534 จึงพ้นกำหนดแล้วและจะถือว่าเป็นการยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมก็ไม่ได้ เพราะยังไม่มีคำขอรับชำระหนี้เดิมเลย

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2534 ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2534ผู้ร้องได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน 3,840,597 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้โดยใช้แบบพิมพ์คำร้อง (ล.54) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งให้คืนคำร้องไปให้ทำมาใหม่โดยให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ให้ถูกต้องตามแบบในระเบียบคดีล้มละลาย หลังจากนั้นวันที่ 9 กันยายน 2534 ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยใช้แบบคำขอรับชำระหนี้ (ล.29) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนด 2 เดือน นับแต่วันประกาศกำหนดให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ จึงสั่งยกคำขอรับชำระหนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด แม้จะใช้แบบพิมพ์ไม่ถูกต้องก็ไม่ทำให้คำขอรับชำระหนี้เสียไป ขอให้รับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า เดิมผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยหนี้ ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะมิได้ขอรับชำระหนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งให้คืนคำร้องไปทำมาใหม่ ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่พ้นกำหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วเห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนด มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2534 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์รายวันเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2534 และในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่21 พฤษภาคม 2534 ครบกำหนดที่เจ้าหนี้ทั้งหลายจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2534ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ (ล.54) ซึ่งเป็นแบบพิมพ์คำร้องทั่วไปของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเฉลี่ยหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นว่า “คืนคำร้องไปทำมาใหม่ให้หมายแจ้งเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ให้ถูกต้องตามแบบระเบียบในคดีล้มละลาย” ในตอนท้ายหน้าแรกของคำร้องได้มีหมายเหตุว่า ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ดังนั้นเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งคำร้องในวันเดียวกันกับวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง จึงถือว่าผู้ร้องได้ทราบคำสั่งแล้ว โดยไม่ต้องมีหมายแจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องทราบอีก ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวนี้เป็นการสั่งไม่รับคำร้องนั่นเอง ผู้ร้องจะต้องทำคำขอรับชำระหนี้ตามแบบพิมพ์ (ล.29) ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ใหม่ภายในกำหนดคือภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 การที่ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามแบบ (ล.29) เข้ามาใหม่เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2534 จึงพ้นกำหนดแล้วและจะถือว่าเป็นการยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมก็ไม่ได้ เพราะยังไม่มีคำขอรับชำระหนี้เดิมเลยฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share