คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3527/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ย. ซึ่งเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยและบุตรคนอื่นของ ย. แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นเจ้าของและครอบครองที่ดินพิพาทไว้ แต่จำเลยมีหน้าที่จะต้องจัดแบ่งให้แก่บุตรทุกคนของ ย. ตามที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่นของ ย. มาตั้งแต่การยกให้ กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยแย่งการครอบครองของโจทก์ทั้งสาม จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 มาปรับแก่คดีของจำเลยมิได้ และการที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่นของ ย. ว่า จำเลยไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่นของ ย. อีกต่อไปดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนางเยอะ เจริญสุข มารดาของโจทก์ทั้งสามและจำเลย เมื่อประมาณปลายปี ๒๕๒๑ จำเลยได้ขอร้องให้นางเยอะจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันเงินกู้ของจำเลยที่กู้จากธนาคาร แต่นางเยอะ+ภาพแล้วไม่สะดวกที่จะดำเนินการ จึงตกลงกับจำเลยว่าจะยกที่ดินพิพาทให้เพื่อความสะดวกในการจดทะเบียนจำนองในภายหลัง โดยนางเยอะยังคงเป็นเจ้าของและครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเช่นเดิม ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ นางเยอะ โจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๓ จำเลย และนางยงค์ เจริญสุข ได้ทำสัญญากัน ณ ที่ว่าการอำเภอ มีข้อสัญญาว่าที่ดินพิพาทเป็นของนางเยอะ และนางเยอะยกให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลย นางยงค์และนางยวนจิต บุตรเทศ ซึ่งเป็นบุตรทั้งหกคน โดยได้รับส่วนแบ่งคนละ ๑ ส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อทำสัญญากันแล้วโจทก์ทั้งสามและจำเลยกับพี่น้องทุกคนต่างเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทในฐานะเป็นเจ้าของร่วมกันแทนกันตลอดมา โดยตกลงกันว่าให้จำเลยเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นโฉนดที่ดินเสียก่อนแล้วจึงจะแบ่งแยก ต่อมาจำเลยได้ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทแล้วโจทก์ทั้งสามจึงแจ้งให้จำเลยแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ยอมแบ่งให้ ขอให้พิพากษาแบ่งที่ดินพิพาทออกเป็น ๖ ส่วนเท่า ๆ กัน ให้โจทก์ทั้งสามและจำเลยได้รับคนละ ๑ ส่วน หากไม่สามารถแบ่งที่ดินพิพาทได้ก็ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน
จำเลยให้การว่า นางเยอะยกที่ดินพิพาทให้จำเลยในปี ๒๕๒๒ เพราะจำเลยชำระหนี้แทนนางเยอะ ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้ต่อธนาคาร โจทก์ทั้งสามก็ไม่ได้คัดค้าน จำเลยครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจนถึงปี ๒๕๒๖ โจทก์ทั้งสามขออยู่อาศัยในที่ดินพิพาทเพราะยากจน และรับปากว่าที่ดินที่จำเลยจะแบ่งให้โจทก์จะออกเงินช่วยเหลือคืนให้เท่าที่จำเลยชำระหนี้แทนนางเยอะไป จำเลยตกลงแต่โจทก์ไม่เชื่อ วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ จึงทำหนังสือบันทึกเป็นหลักฐานไว้ ซึ่งข้อความยางตอนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง นับแต่ทำบันทึกแบ่งที่ดินพิพาทกันแล้วโจทก์ทั้งสามไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ จำเลยครอบครองทำประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวตลอดมา ต่อมาจำเลยไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสามทราบแล้วก็ไม่โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้แบ่งที่ดินพิพาทออกเป็น ๖ ส่วนเท่า ๆ กัน ให้โจทก์ทั้งสามและจำเลยได้รับคนละ ๑ ส่วน หากไม่สามารถแบ่งได้ให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางเยอะ เจริญสุข เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และนางเยอะได้ยกให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลย นางยงค์ และนางยวนจิต แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นเจ้าของและครอบครองที่ดินพิพาทไว้ แต่จำเลยมีหน้าที่จะต้องจัดแบ่งให้แก่บุตรทุกคนของนางเยอะตามที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่นของนางเยอะมาตั้งแต่การยกให้ กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยแย่งการครอบครองของโจทก์ทั้งสาม จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ มาปรับแก่คดีของจำเลยไม่ได้ และการที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทโดยบอกกล่าวไปยังโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่นของนางเยอะว่า จำเลยไม่มีเจตนาที่จะยึดถือที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์ทั้งสามและบุตรคนอื่นของนางเยอะอีกต่อไปดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๑ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกคืนได้
พิพากษายืน

Share