แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือจำเลยที่ 2 และที่ 3 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่อย่างใด และที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามยินยอมแสดงออกยอมรับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการกิจการเข้าหุ้นส่วนกันนั้น ก็มีความหมายเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนสามัญที่จำเลยทั้งสามเข้าหุ้นส่วนกันนั้นเท่านั้น มิได้หมายความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2และที่ 3 อีกด้วย คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2และที่ 3 หรือไม่ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามมิได้ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกันตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์โดยได้รับชำระราคาที่ดินและตึกแถวพิพาทนั้นจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว จะพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน ขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ได้ เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง