คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3524/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยขอให้นำค่าเสียหายที่จำเลยได้รับจากการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างทำของมาหักกลบกับค่าเช่าคลังสินค้านั้น แม้ตามสัญญามีข้อตกลงให้จำเลยมีสิทธิหักเงินค่าเสียหายจากค่าเช่า ค่าแรงงาน และค่ารมยาได้ก็ตาม แต่จำเลยมิได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายมาในคดีนี้ และมิได้นำสืบให้เห็นว่าได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนเท่าใด อีกทั้งโจทก์ก็ยังโต้เถียงว่า การที่ข้าวโพดเสื่อมคุณภาพส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการเก็บรักษาไว้นานเนื่องจากบริษัทที่รับซื้อไม่มารับมอบสินค้าภายในกำหนด ไม่ใช่ความผิดของโจทก์เสียทั้งหมด สิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายของจำเลยยังมีข้อต่อสู้อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 จึงไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้กันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 4,123,634.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,775,790.90 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 123,461.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 30 กันยายน 2546 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 3,391,932.31 บาท รวมกับค่าจ้างกรรมกรที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์จำนวน 123,461.90บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,515,394.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันที่ 30 กันยายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยทำสัญญาเช่าคลังสินค้าของโจทก์เพื่อเก็บข้าวโพดตามสัญญาเช่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าเช่าคลังสินค้าและค่ารมยาข้าวโพดขณะเก็บในคลังสินค้าให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่า มีข้อตกลงในสัญญา ข้อ 4. ว่าเป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่าคือโจทก์ต้องจัดหาแรงงานกรรมกรขนถ่ายข้าวโพด หาเครื่องชั่งน้ำหนักข้าวโพด และรมยาข้าวโพดที่เก็บในคลังสินค้า โดยผู้เช่าคือจำเลยเป็นผู้ชำระค่าแรงงานและค่ารมยา และสัญญา ข้อ 5. ระบุถึงกรณีเกิดความเสียหายซึ่งผู้ให้เช่าต้องรับผิด ผู้เช่ามีสิทธิหักเงินค่าเสียหายจากเงินค่าเช่า ค่าแรงงาน และค่ารมยาได้ ข้อตกลงข้อที่ 4 และ 5 จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของซ้อนอยู่ในสัญญาเช่าทรัพย์ จำเลยนำสืบยอมรับว่าได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าทรัพย์และได้ขายข้าวโพดที่เก็บในคลังสินค้าโจทก์ให้บริษัทธัญญพรรณสากลการค้า จำกัด โดยกำหนดให้ผู้ซื้อรับมอบข้าวโพดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 แต่ผู้ซื้อรับข้าวโพดไปเพียง 2,000,000 กิโลกรัม ส่วนที่เหลือไม่ยอมรับ เพราะเป็นข้าวโพดคุณภาพต่ำ จำเลยมิได้บอกเลิกสัญญาเช่าคลังสินค้า แต่อ้างว่าเป็นความผิดของโจทก์ที่มิได้ปรับปรุงให้ข้าวโพดมีคุณภาพดีตามสัญญาทำให้สัญญาเช่าคลังสินค้าเป็นอันยกเลิกกันนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องว่ากล่าวเอากับโจทก์ในเรื่องผิดสัญญาจ้างทำของซึ่งจำเลยก็ให้การขอสงวนสิทธิในการเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อครบสัญญาเช่าคลังสินค้าแล้ว จำเลยยังคงเก็บข้าวโพดที่รับจำนำจากเกษตรกรในคลังสินค้าของโจทก์ต่อมาและชำระค่าเช่าให้โจทก์ถึงเดือนตุลาคม 2544 แล้วไม่ชำระอีก จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าเช่าคลังสินค้าให้โจทก์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2544 ถึงเดือนกันยายน 2546 รวม 23 เดือน เป็นเงิน 2,746,315 บาท จำเลยฎีกาขอให้นำค่าเสียหายที่จำเลยได้รับจากการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างทำของมาหักกลบกับค่าเช่าคลังสินค้า ซึ่งแม้ตามสัญญามีข้อตกลงให้จำเลยมีสิทธิหักเงินค่าเสียหายจากค่าเช่า ค่าแรงงาน และค่ารมยาได้ก็ตาม แต่จำเลยมิได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายมาในคดีนี้ และมิได้นำสืบให้เห็นว่าได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนเท่าใดอีกทั้งโจทก์ก็ยังโต้เถียงว่า การที่ข้าวโพดเสื่อมคุณภาพส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการเก็บรักษาไว้นานเนื่องจากบริษัทที่รับซื้อไม่มารับมอบสินค้าภายในกำหนด ไม่ใช่ความผิดของโจทก์เสียทั้งหมด สิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายของจำเลยยังมีข้อต่อสู้อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 จึงไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างถึงข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ สำหรับค่ารมยาข้าวโพดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2544 ถึงเดือนสิงหาคม 2545 รวม 10 ครั้ง จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้รมยาข้าวโพดตามสัญญา หากจำเลยจำเป็นจะต้องชำระ จำเลยก็ควรจะชำระถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่บริษัทธัญญพรรณสากลการค้า จำกัด ไม่ยอมรับซื้อข้าวโพดที่เหลือเนื่องจากเสื่อมคุณภาพแล้วนั้น พิเคราะห์ตามเอกสารใบขอเบิกค่ารมยาที่นายไพรัช หัวหน้าหน่วยรับจำนำข้าวโพดประจำอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เป็นผู้จัดทำขอเบิกแทนโจทก์ ปรากฏว่านายไพรัช ทำเรื่องขอเบิกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2544 ถึงเดือนสิงหาคม 2545 หลังจากนั้นไม่ปรากฏหลักฐานการขอเบิกค่ารมยาให้โจทก์อีก เชื่อว่าได้มีการตรวจสอบแล้วว่าโจทก์รมยาข้าวโพดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจริง มิฉะนั้น ก็ไม่มีเหตุผลที่นายไพรัช พนักงานของจำเลยจะจัดทำเอกสารขอเบิกเงินค่ารมยาให้ ส่วนจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มิได้รมยาข้าวโพดตามฟ้องอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่า จำเลยติดค้างค่ารมยาข้าวโพดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2544 ถึงเดือนสิงหาคม 2545 รวม 10 ครั้งเป็นเงิน 645,617.31 บาท จำเลยจึงต้องชำระเงินในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ด้วย ทั้งไม่อาจนำค่ารมยาดังกล่าวมาหักกลบลบนี้กับค่าเสียหายของจำเลยตามเหตุผลที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาคดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share