คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3524/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 500,000 บาทโดยมิได้ระบุให้ใช้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐแต่อย่างใด ส่วนข้อความที่ระบุว่า “วันนี้ 1 อัตราดอลลาร์อเมริกันเท่ากับ24.29บาทในกรณีที่เงินดอลลาร์อเมริกันมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นผู้กู้ยอมชำระอัตราเพิ่มขึ้นด้วย” นั้น เป็นเพียงข้อตกลงที่ให้ผู้กู้ชำระเงินเพิ่มในกรณีที่เงินดอลลาร์สหรัฐมีอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มสูงขึ้น หาใช่เป็นการแสดงว่าเป็นการกู้เงินหรือต้องใช้เงินกู้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐไม่ จำเลยต้องชำระหนี้ตามจำนวนในสัญญาให้โจทก์เป็นเงินไทย ทั้งข้อตกลงดังกล่าวก็มิใช่เป็นเบี้ยปรับหรือการกำหนดค่าเสียหาย แต่เป็นการกำหนดให้ผู้กู้ต้องรับผิดเกินกว่าหนี้ที่ผู้กู้จะต้องชำระให้แก่ผู้ให้กู้อันเป็นการให้ค่าตอบแทนเพิ่มจากดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน กรณีจึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 จึงตกเป็นโมฆะมิอาจบังคับได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยมิได้ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 500,000 บาท (ขณะกู้ยืมเงิน ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ละ 24.29 บาท เท่ากับกู้ยืม 20,584.60 ดอลลาร์สหรัฐ) ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ตกลงกันว่าในวันกู้ยืมเงินกันอัตราดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ24.29 บาท ในกรณีที่เงินดอลลาร์สหรัฐมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น จำเลยยอมชำระอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว หลังกู้ยืมเงินจำเลยไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถาม ทั้งให้ทนายความบอกกล่าวทวงถาม แต่จำเลยไม่ชำระ อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 10เมษายน 2541 ซึ่งเป็นวันใกล้เคียงที่สุดกับวันที่ทนายความโจทก์บอกกล่าวทวงถามครั้งสุดท้ายและวันฟ้องดอลลาร์ละ 40.25 บาท คิดเป็นเงินไทยได้ 828,530.15 บาทดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันกู้ยืมจนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 362,481.92 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 20,584.60 ดอลลาร์สหรัฐ หรือจำนวน 828,530.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันที่กู้ยืมจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 362,481.92 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์เป็นเงินไทย 500,000 บาท จริงโจทก์ส่งมอบเงินที่กู้ยืมให้แก่จำเลยเป็นเงินไทย ไม่ได้ส่งมอบให้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนโดยอ้างอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น คงมีสิทธิฟ้องเรียกต้นเงิน 500,000 บาท ตามสัญญากู้เงินเท่านั้น โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน เท่ากับอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เป็นการเรียกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจึงตกเป็นโมฆะโจทก์จึงมีสิทธิเรียกเฉพาะเงินต้น 500,000บาท เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 เมษายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 20,584.60 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 เมษายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับเงินดอลลาร์สหรัฐให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8พิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่มีก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2538 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 500,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน และในสัญญากู้เงินข้อ 9 ระบุว่า “วันนี้ 1 อัตราดอลลาร์อเมริกันเท่ากับ 24.29 บาท ในกรณีที่เงินดอลลาร์อเมริกันมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ผู้กู้ยอมชำระอัตราเพิ่มขึ้นนี้ด้วย” จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้วตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 หลังกู้ยืมเงินจำเลยไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จำเลยได้รับหนังสือทวงถามแล้วเพิกเฉย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้โจทก์เป็นเงินไทยหรือเงินดอลลาร์สหรัฐ เห็นว่า ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ระบุว่า จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 500,000 บาท ซึ่งไม่มีการระบุว่า ให้ใช้หนี้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐแต่อย่างใดส่วนตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ข้อ 9 นั้น เป็นเพียงข้อตกลงที่ให้ผู้กู้ชำระเงินเพิ่มในกรณีที่เงินดอลลาร์สหรัฐมีอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มสูงขึ้น หาใช่เป็นการแสดงว่าเป็นการกู้เงินหรือต้องใช้เงินกู้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐไม่ จำเลยจึงต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้โจทก์เป็นเงินไทยจำนวน 500,000 บาท ตามสัญญากู้ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปในปัญหาข้อกฎหมายว่า ข้อตกลงในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ข้อ 9 ที่ระบุว่า “วันนี้ 1 อัตราดอลลาร์อเมริกันเท่ากับ24.29 บาท ในกรณีที่เงินดอลลาร์อเมริกันมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ผู้กู้ยอมชำระอัตราเพิ่มขึ้นนี้ด้วย” ใช้บังคับได้หรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เป็นเบี้ยปรับหรือการกำหนดค่าเสียหาย แต่เป็นการกำหนดให้ผู้กู้จะต้องรับผิดเกินกว่าหนี้ที่ผู้กู้จะต้องชำระให้แก่ผู้ให้กู้ตามสัญญากู้เงินเป็นการให้ค่าตอบแทนเพิ่มจากดอกเบี้ยที่คู่สัญญากำหนดกันไว้ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ตามสัญญากู้เงินในข้อ 4 จึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 จึงตกเป็นโมฆะมิอาจบังคับได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ส่วนฎีกาของจำเลยในข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่อาจทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 20,584.60 ดอลลาร์สหรัฐแก่โจทก์นั้นหาชอบไม่ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share