แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สิทธิบัตรที่โจทก์ร่วมได้รับเป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ลูกตระกร้อพลาสติกไม่ใช่การประดิษฐ์ที่ได้มาซึ่งกรรมวิธีใหม่ การวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ผลิตรายใดจะเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ร่วมหรือไม่ จะต้องพิจารณาที่ผลิตภัณฑ์เป็นหลัก มิใช่พิจารณาที่กรรมวิธีการผลิต ดังนั้นไม่ว่าผู้ผลิตรายใดซึ่งผลิตตะกร้อพลาสติกจะพัฒนาวิธีการสานตะกร้อพลาสติกให้ดีกว่าหรือต่างไปจากวิธีการสานของโจทก์ร่วมเพียงใดก็ตามหากลูกตะกร้อพลาสติกที่ผลิตออกมามีรูปทรงรูปร่างลักษณะเหมือนกับของโจทก์ร่วมแล้ว ถือว่าผลิตภัณฑ์นั้นผลิตโดยละเมิดข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของโจทก์ร่วม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ. 2522 มาตรา 36, 85, 88 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,33 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา นายบุญชัย หล่อพิพัฒน์ ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 85, 88 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กรรมละ 100,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กรรมละ 1 ปี รวมโทษปรับจำเลยที่ 1 สองกรรม 200,000 บาท รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 2 สองกรรม 2 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้ยึดทรัพย์สินมาชำระค่าปรับ ให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ100,000 บาท รวมสองกระทงปรับ 200,000 บาท อีกสถานหนึ่งโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในประการแรกว่าสิทธิบัตรเลขที่ 391 ของโจทก์ร่วม ตามเอกสารหมาย จ.1 ออกมาโดยไม่ชอบ ตะกร้อพลาสติกตามพยานวัตถุหมาย 16 ใช้กรรมวิธีการผลิตไม่ตรงตามสิทธิบัตร และข้อถือสิทธินั้นพยานโจทก์มีนายชุมพลศิริบรรณบุศย์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์งานทะเบียนการค้า 5กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เบิกความว่า เมื่อเดือนเมษายน2527 โจทก์ร่วมได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าว พยานตรวจสอบเบื้องต้นเห็นว่าถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ประกาศเป็นเวลา 180 วัน เพื่อให้บุคคลทั่วไปทราบไม่มีผู้ใดคัดค้าน เจ้าหน้าที่จึงตรวจสอบการประดิษฐ์โดยส่งคำขอในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ขอถือสิทธิบทสรุปการประดิษฐ์ รูปเขียนที่เป็นการประดิษฐ์ไปตรวจสอบที่ประเทศออสเตรเลีย เพราะเครื่องมือการตรวจสอบของไทยยังมีไม่เพียงพอ ซึ่งที่ประเทศออสเตรเลียนี้ สำนักงานสิทธิบัตรออสเตรเลียหรือสำนักงานสิทธิบัตรยุโรปเป็นผู้ตรวจสอบหลักฐานว่าการประดิษฐ์เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือไม่ มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นหรือไม่ และสามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรมหรือไม่เมื่อได้รับผลการตรวจสอบคืนมาแล้วกรมทะเบียนการค้าได้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งนายทะเบียนจึงได้ออกสิทธิบัตรเลขที่ 391 ตามเอกสารหมายจ.1 ให้โจทก์ร่วมเห็นว่าก่อนที่กรมทะเบียนการค้าจะออกสิทธิบัตรดังกล่าวให้โจทก์ร่วม พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ในส่วนที่เกี่ยวกับการออกสิทธิบัตรโดยสมบูรณ์รวมทั้งได้ส่งคำขอไปตรวจสอบที่สำนักงานสิทธิบัตรออสเตรเลียหรือสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป ประเทศออสเตรเลียว่าการประดิษฐ์ที่ขอสิทธิบัตรเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และเป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ ในทางอุตสาหกรรมหรือไม่แล้ว ดังนั้น สิทธิบัตรเลขที่ 391ตามเอกสารหมาย จ.1 จึงออกมาโดยชอบส่วนการที่จำเลยฟ้องคดีขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์ร่วม แต่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษา จึงถือว่าสิทธิบัตรของโจทก์ร่วมชอบด้วยกฎหมายอยู่ตราบเท่าที่ยังไม่ถูกเพิกถอนส่วนในปัญหาว่า ตะกร้อพลาสติกตามพยานวัตถุหมาย จ.16 ใช้กรรมวิธีการผลิตไม่ตรงกับสิทธิบัตรและข้อถือสิทธิตามเอกสารหมาย จ.1 นั้นเห็นว่า สิทธิบัตรเลขที่ 391 ที่โจทก์ร่วมได้รับนั้นเป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ลูกตะกร้อพลาสติกไม่ใช่การประดิษฐ์ที่ได้มาซึ่งกรรมวิธีใหม่ โดยตามข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรเลขที่ 391 ข้อ 1 มีว่า “ตะกร้อพลาสติกที่ประกอบแถบวงที่ทำจากวัสดุพลาสติกจำนวนหกแถบมาสานขัดกันขึ้นเป็นรูปทรงกลม เกิดมีจุดสานตัดจากการไขว้กันของแถบสามแถบจำนวนยี่สิบจุด โดยที่แถบวงแต่ละแถบเกิดจากการนำแถบมาโค้งเป็นวงกลมบรรจบแล้วต่อเชื่อมปลายทั้งสองข้างของแถบแบนเข้าด้วยกันโดยการใช้หมุดย้ำและ/หรือกาว และ/หรือความร้อน” ข้อ 4 มีว่า”ตะกร้อพลาสติกตามข้อถือสิทธิข้อ 1 ซึ่งแถบแบนประกอบด้วยเส้นแถบข้างจำนวนสองแถบ และเส้นแถบกลางจำนวนหนึ่งแถบ วางเรียงขนานกันโดยเส้นแถบกลางอยู่ระหว่างเส้นแถบข้างทั้งสอง” จากข้อถือสิทธิดังกล่าวการที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ผลิตรายใดจะเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ร่วมหรือไม่ย่อมจะต้องพิจารณาที่ผลิตภัณฑ์เป็นหลักมิใช่พิจารณาที่กรรมวิธีการผลิต ดังจะเห็นได้จากในข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรของโจทก์ร่วมไม่ได้กล่าวถึงวิธีการสานตะกร้อไว้เลย คงกล่าวแต่เพียงว่า ผลิตภัณฑ์ลูกตะกร้อพลาสติกประกอบด้วยวัสดุอะไรมีรูปร่างลักษณะอย่างไร โดยไม่ได้กล่าวถึงวิธีการสานตะกร้อ เช่นว่าจะต้องใช้เส้นใดสานกับเส้นใดก่อนหลังอย่างไรเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ไม่ว่าผู้ผลิตรายใดซึ่งผลิตตะกร้อพลาสติกจะพัฒนาวิธีการสานตะกร้อพลาสติกให้ดีกว่าหรือต่างไปจากวิธีการสานของโจทก์ร่วมเพียงใดก็ตามหากลูกตะกร้อพลาสติกที่ผลิตออกมามีรูปทรงประกอบด้วยแถบวงหกแถบสานขัดกันขึ้น แถบวงนั้นก็เกิดจากแถบแบนที่ประกอบด้วยเส้นแถบข้างสองเส้นและเส้นแถบกลางหนึ่งเส้น โดยเส้นแถบข้างและเส้นแถบกลางนั้นมีรูปร่างลักษณะเหมือนกับเส้นแถบข้างและเส้นแถบกลางของโจทก์ร่วมและมีจุดสานตัดยี่สิบจุดแล้วถือว่าผลิตภัณฑ์นั้นผลิตโดยละเมิดข้อถือสิทธิ ข้อ 1 และ ข้อ 4 ของสิทธิบัตรเลขที่ 391 ของโจทก์ร่วมและเมื่อพิเคราะห์พยานวัตถุหมาย จ.16 อันเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเลยผลิตขึ้นปรากฏว่าเป็นลูกตะกร้อพลาสติกที่ประกอบด้วยแถบวงที่ทำจากวัสดุพลาสติกจำนวนหกแถบมาสานขัดกันขึ้นเป็นรูปทรงกลม เกิดมีจุดสานตัดจากการไขว้กันของแถบสามแถบจำนวนยี่สิบจุด โดยที่แถบวงแต่ละแถบเกิดจากการนำแถบแบนมาโค้งเป็นรูปวงกลมบรรจบ แล้วต่อเชื่อมปลายทั้งสองข้างของแถบแบนเข้าด้วยกัน ส่วนแถบแบนแต่ละแถบประกอบด้วยเส้นแถบข้างจำนวนสองแถบ และเส้นแถบกลางจำนวนหนึ่งแถบวางเรียงขนานกันโดยเส้นแถบกลางอยู่ระหว่างเส้นแถบข้างทั้งสองซึ่งองค์ประกอบของลูกตะกร้อพลาสติกที่จำเลยผลิตออกมานั้นเหมือนกับข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของโจทก์ร่วมทุกประการ จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน