คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 843/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การฝ่าฝืนข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานนั้นหมายถึง ในกรณีที่นายจ้างได้เตือนลูกจ้างแล้วลูกจ้างยังฝ่าฝืนกระทำผิดซ้ำคำเตือน นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย การที่จำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์เรื่องการลาป่วยผิดระเบียบ มิใช่เตือนเรื่องขาดงานต่อมาโจทก์ขาดงานจึงถือไม่ได้ว่ากระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน22,680 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 3,276 บาท ค่าเสียหาย22,680 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินแต่ละจำนวนกับให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงิน 1,008 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี
จำเลยให้การว่า โจทก์หยุดงานโดยไม่แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยจึงตักเตือนโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2536 โจทก์หยุดงานโดยไม่แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบอันเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2536 โดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายให้โจทก์ส่วนค่าจ้างจำเลยจ่ายให้โจทก์ครบถ้วนไม่เคยค้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เนื้อหาตามหนังสือเตือนเอกสารหมายล.2 จำเลยมุ่งประสงค์เตือนโจทก์เรื่องการลาป่วยในวันที่ 19เมษายน 2536 เท่านั้นแต่เท้าความถึงวันที่ 15 และ 16 เมษายน 2536ที่โจทก์ขาดงานและผู้บังคับบัญชาได้ลงโทษตักเตือนด้วยวาจาแล้วการที่โจทก์ขาดงานในวันที่ 24 พฤษภาคม 2536 จึงมิใช่การกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขาดงาน การขาดงานเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานเป็นการละทิ้งหน้าที่ จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควรมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย และจำเลยไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ขาดงานไปในวันที่ 19 เมษายน 2536 จำเลยจึงได้เตือนโจทก์เป็นหนังสือตามเอกสารหมาย ล.2 แต่ตามบันทึกบัตรการทำงานของโจทก์เอกสารหมายจ.1 ในช่องวันที่ 19 เมษายน 2536 ระบุว่าโจทก์ลาป่วย และโจทก์ได้ยื่นใบลาตามเอกสารหมาย ล.6 ลงวันที่ 20 เมษายน 2536 ขออนุญาตลาป่วยเนื่องจากอุจจาระร่วง เป็นเวลา 1 วัน ตั้งแต่วันที่ 19เมษายน 2536 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2536 และจำเลยได้อนุมัติการลาป่วยของโจทก์ในวันที่ยื่นใบลานั้น เห็นว่าโจทก์ลาป่วยผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานว่าด้วยการลาเพราะไม่ได้โทรศัพท์หรือทำหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบในวันที่ลานั้น แต่เมื่อโจทก์กลับมาปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ยื่นใบลาตามระเบียบและจำเลยได้อนุมัติแล้วด้วยจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ขาดงาน ที่จำเลยออกคำเตือนเป็นหนังสือตามเอกสารหมาย ล.2 แก่โจทก์นั้น ถือได้ว่าเป็นการเตือนโจทก์เรื่องการลาป่วยผิดระเบียบ ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบในคราวต่อไปมิใช่เป็นการเตือนเรื่องขาดงาน ต่อมาโจทก์ได้ขาดงานในวันที่ 24พฤษภาคม 2536 จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยที่ศาลแรงงานกลางพิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share