คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 352/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พวกสมาชิกนิคมฯ ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ความว่า ตามที่ได้รับอนุญาตให้ทำฟืนเพื่อการรถไฟฯ นั้นพวกสมาชิกนิคมฯ ได้ตกลงมอบให้บริษัทธนากรเป็นผู้จัดดำเนินการทำฟืนรายนี้ทั้งหมดเพื่อส่งให้แก่การรถไฟฯ เพราะสมาชิกมีกิจจำเป็น ฉะนั้น เพื่อความสะดวกจึงขอมอบให้นายใหญ่ผู้จัดการบริษัทธนากรทำการตัดฟืน ชักลาก ขนส่ง ให้แก่การรถไฟฯตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และระเบียบของการรถไฟฯ (สมาชิกทุกคนลงชื่อท้ายเอกสาร)เอกสารที่มีข้อความเช่นนี้เป็นตราสารใบมอบอำนาจตามประมวลรัษฎากร
เมื่อเป็นใบมอบอำนาจตามประมวลรัษฎากรแล้ว แม้พระราชบัญญัติป่าไม้ฯ จะเปิดช่องให้มอบอำนาจกันได้หรือไม่ก็ตามก็ไม่ทำให้เอกสารดังกล่าวนั้นไม่เป็นใบมอบอำนาจหน้าที่ของผู้เสียอากรสำหรับใบมอบอำนาจยังคงมีอยู่ตามเดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้สั่งให้โจทก์นำเงินอากรและเงินเพิ่มอากรแสตมป์ไปชำระ โดยอ้างว่าโจทก์ถือเอาประโยชน์แห่งตราสารใบมอบอำนาจที่มิได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรแบบ อ.ส.6 โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อจำเลยที่ 3, 4, 5 จำเลยที่ 3, 4, 5 ได้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยวินิจฉัยว่าเป็นใบตั้งตัวแทนและโจทก์ได้ถือเอาประโยชน์แห่งตราสารนี้ โจทก์ขอโต้แย้งว่าโจทก์ไม่เคยรู้เรื่องใบมอบอำนาจนี้เลย ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่ง

จำเลยทั้ง 5 ให้การว่า คำสั่งของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริง

ศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาว่า เอกสาร ล.1 ไม่ใช่ตราสารมอบอำนาจ

ศาลฎีกาเห็นว่าเอกสาร ล.1 เป็นหนังสือของนิคมสร้างตนเองอำเภอปราสาทที่ 97/2515 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2505 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ข้อความในหนังสือนั้นมีว่า “ด้วยตามที่สมาชิกนิคมได้รับอนุญาตให้ทำฟืนเพื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยปรากฏตามใบอนุญาตเล่มที่ 164 ฉบับที่ 10-34 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2505 รวม 25 รายเป็นฟืนทั้งสิ้น 50,000 ลูกบาศก์เมตร แล้วนั้นข้าพเจ้าผู้ปกครองนิคมและสมาชิกที่ได้รับอนุญาต ได้ตกลงมอบให้บริษัทธนากรก่อสร้างจำกัด โดยมีนายใหญ่ ธนปกรณ์ เป็นผู้จัดการดำเนินการทำฟืนรายนี้ทั้งหมดเพื่อส่งให้แก่การรถไฟฯ

ทั้งนี้ เนื่องจากข้าพเจ้าและสมาชิกมีกิจจำเป็นในการปฏิบัติราชการและประกอบทำมาหาเลี้ยงชีพในทางอื่นอยู่เป็นประจำทั้งนิคมก็ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดไม่อาจที่จะมาทำการติดต่อขอรับใบคู่มือคนงาน ใบเบิกทาง และอื่น ๆ ด้วยตนเองในโอกาสอันสมควรได้

ฉะนั้น เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว จึงขอมอบให้นายใหญ่ ธนปกรณ์ผู้จัดการบริษัทธนากรก่อสร้าง จำกัด ดำเนินการควบคุมทำการตัดฟืน ชักลาก ขนส่งให้การรถไฟฯ ไปตามระเบียบและพระราชบัญญัติป่าไม้ และระเบียบการของการรถไฟฯ ที่ใช้ปัจจุบัน และที่จะพึงมีในกาลต่อไป ตลอดใบอนุญาต จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ” สรุปความในเอกสารนี้ก็คือ ข้อความในวรรคแรก แสดงว่าสมาชิกนิคมได้รับอนุญาตให้ทำฟืนให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ปกครองนิคมและสมาชิกที่ได้รับอนุญาตตกลงมอบให้โจทก์เป็นผู้จัดการดำเนินการทำฟืนรายนี้ทั้งหมด ข้อความในวรรคสอง แสดงเหตุที่มอบให้โจทก์ดำเนินการ ข้อความในวรรคสาม แสดงว่าผู้ปกครองนิคมและสมาชิกผู้รับอนุญาต 25 ราย มอบให้โจทก์ดำเนินการควบคุมทำการตัดฟืน ชักลาก ขนส่งให้การรถไฟฯ ข้อความในเอกสารนี้จึงแสดงว่าสมาชิกผู้รับอนุญาต 25 ราย ได้มอบอำนาจให้โจทก์ตัดฟืนชักลาก ส่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยแทนสมาชิกเหล่านั้นเมื่อสมาชิกทั้ง 25 ราย ลงชื่อในท้ายเอกสารนั้น เอกสารนั้นจึงเป็นตราสารใบมอบอำนาจ

ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า เอกสาร ล.1 มิใช่ตราสารใบมอบอำนาจเพราะพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 56 วรรค 2 และมาตรา 57 ไม่เปิดช่องให้บุคคลอื่นเข้าไปทำไม้ตามใบอนุญาตได้นั้นในข้อนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาแล้วว่า เอกสารหมาย ล.1 เป็นใบมอบอำนาจตามประมวลรัษฎากร ส่วนพระราชบัญญัติป่าไม้ที่โจทก์อ้าง จะเปิดช่องให้มอบอำนาจกันได้หรือไม่ ก็ไม่ทำให้เอกสารดังกล่าวนั้นไม่เป็นใบมอบอำนาจ หน้าที่ของผู้เสียอากรสำหรับใบมอบอำนาจยังคงมีอยู่ตามเดิมฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงตกไป

พิพากษายืน

Share