คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 776/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ทายาท” ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา หมายความถึง ทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงทายาทตามความเป็นจริงแต่ประการใด เมื่อโจทก์เป็นบิดาตามความเป็นจริง แต่มิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามมาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีตาย 75,000 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพ 50,344.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ถัดจากวันที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเพชรบุรีแจ้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว (วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548) จนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 7 พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเพชรบุรีที่สั่งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตายและเงินบำเหน็จชราภาพกรณีตาย และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 156-157/2549 ลงวันที่ 31 มกราคม 2549 ให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีตายและเงินบำเหน็จชราภาพกรณีตายแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73, 77 ทวิ และ 77 จัตวา คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นายบรรเจิดทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการเดียวว่า โจทก์ซึ่งเป็นบิดาของนางสาวทัศนีย์ตามความเป็นจริงแต่ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็น “ทายาท” ผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (3) หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “บิดา” และคำว่า “ทายาท” ว่ามีความหมายอย่างใด เมื่อพิจารณาบทบัญญัติตามมาตราต่างๆ ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 จะเห็นได้ว่า มีการบัญญัติแตกต่างกันชัดเจน กล่าวคือ ในมาตรา 73 (1) การจ่ายเงินค่าทำศพให้จ่ายแก่ “บุคคล” ตามลำดับ ดังนี้ … มาตรา 73 (2) การจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายให้จ่ายแก่ “บุคคล”… มาตรา 75 จัตวา การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรแก่ “บุคคล” … ตามลำดับ ดังนี้ แต่ในมาตรา 77 จัตวา บัญญัติไว้ชัดเจนแตกต่างจากมาตราดังกล่าวข้างต้น โดยบัญญัติว่า “ทายาท” ของผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ “ทายาท” ผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่งได้แก่ (1) (2) (3) … เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวใช้คำว่า “บุคคล” กับ “ทายาท” แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้มีความหมายแตกต่างกัน และคำว่า “ทายาท” ซึ่งเป็นถ้อยคำในบทบัญญัติของกฎหมาย จึงต้องแปลความหมายโดยเทียบเคียงกับคำว่า “ทายาท” ในกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามบทบัญญัติมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกรณีนี้ก็คือบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก ซึ่งมีบทบัญญัติถึงคำว่า “ทายาท” อยู่ในมาตรา 1559, 1603 และ 1629 โดยคำว่า “ทายาท” ในบทบัญญัติดังกล่าวนี้ หมายถึงเฉพาะทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น คำว่า “ทายาท” ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา จึงต้องหมายถึง ทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงทายาทตามความเป็นจริงด้วยแต่ประการใด และเมื่อโจทก์เป็นบิดาตามความเป็นจริงแต่มิใช่เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน และมิใช่เป็นทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 77 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ศาลแรงงานภาค 7 วินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยในส่วนนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนเงินบำเหน็จชราภาพพร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 7

Share