คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3511/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้วย่อมผูกพันคู่ความตามนั้น และแม้สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอมก็ตาม แต่การจะแก้ไขข้อผิดพลาดได้ก็ต่อเมื่อเป็นข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 143 เท่านั้น การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองขอเพิ่มเติมหมายเลขโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินอีก 1 แปลงเข้ามาใหม่ ซึ่งผิดไปจากเดิม จึงมิใช่ข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยที่ศาลมีอำนาจแก้ไข โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่อาจขอแก้ไขได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 โดยเฉพาะสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 ความว่า หากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้… ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5700, 5701, 5702 ตำบลคลองหนึ่ง (คลอง 1 ตก) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์…

โจทก์และจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2542 อ้างว่า ในการพิมพ์สัญญาประนีประนอมยอมความมิได้ระบุโฉนดที่ดินเลขที่ 5703 ไว้ด้วย จึงขอเพิ่มเติมแก้ไขสัญญาประนีประนอมยอมความโดยเติมโฉนดที่ดินเลขที่ 5703 ในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5และให้โจทก์กับจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อกำกับต่อหน้าศาล เพื่อให้ถูกต้องตรงตามเจตนาของคู่ความ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ย่อมผูกพันคู่ความตามนั้น และแม้สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจะถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาก็ตาม แต่การจะแก้ไขข้อผิดพลาดได้ก็ต่อเมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ข้อที่โจทก์และจำเลยทั้งสองขอเพิ่มนั้น เป็นการเพิ่มเติมหมายเลขโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินอีก 1 แปลงเข้ามาใหม่ ซึ่งผิดไปจากเดิม กรณีจึงมิใช่ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยที่ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ โจทก์และจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจขอแก้ไขได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share