แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จะพิจารณาว่าการเลิกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่จะต้องพิจารณาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าเป็นเหตุที่สมควรเลิกจ้างหรือไม่ ส่วนกรณีที่จะต้องมีการสอบสวนและการสอบสวนจะต้องปฏิบัติอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะนำมาเป็นหลักในการพิจารณาว่าหากการสอบสวนของจำเลยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับแล้วจะถือว่าไม่มีเหตุแห่งการเลิกจ้าง หาได้ไม่ แม้การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่คดีที่จำเลยฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ยังไม่ปรากฏผลของคดี ค่าเสียหายของจำเลยจะเป็นเงินเท่าใดยังไม่ยุติ ค่าเสียหายจึงยังไม่แน่นอนจำเลยจะนำเอาค่าเสียหายมาหักจากเงินสะสมของโจทก์หาได้ไม่ และไม่มีเหตุที่จำเลยจะรอการจ่ายเงินสะสมไว้ได้ จำเลยจึงต้องคืนเงินสะสมให้โจทก์แต่เมื่อศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสะสมคืนจากจำเลยจำนวนเท่าใด ตั้งแต่เมื่อใดดอกเบี้ยของเงินสะสมเป็นจำนวนเท่าใด ศาลฎีกาย่อมย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยและพิพากษาใหม่เฉพาะในประเด็นเรื่องเงินสะสม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2498 ครั้งสุดท้ายเป็นผู้ปฏิบัติงานระดับ 6 ตำแหน่ง พนักงานควบคุมย่านตรี (ย่านโดยสาร) ได้รับเงินเดือน เดือนละ 6,090 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 300 บาทเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2529 ได้เกิดเหตุรถจักร 6 คันพ่วงติดกันเคลื่อนออกจากย่านจอดรถจักรบางซื่อ โดยไม่มีพนักงานขับรถควบคุมวิ่งไปตามทางที่ 6 (ทางริมบึง) ผ่านประแจกลไฟฟ้าหมายเลข 33 ก.และเหล็กตกรางหมายเลข 1 ซึ่งโจทก์เปิดให้ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายบำรุงทางเข็นรถผลักเบาซึ่งบรรทุกอุปกรณ์ซ่อมทางเข้าไปซ่อมทางตามที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายบำรุงทางร้องขอรถจักรทั้ง 6 คัน วิ่งเข้าสู่ทางล่องเข้าสู่สถานีกรุงเทพ ชนแป้นปะทะปลายรางชานชาลาที่ 4 ทะลุสู่ชานชาลาที่พักผู้โดยสาร ทำให้ประชาชนถึงแก่ความตาย 4 คนบาดเจ็บ 4 คน ทรัพย์สินของจำเลยและประชาชนเสียหาย จำเลยมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์และสั่งพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2529 ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม 2529 จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่โจทก์ถูกสั่งพักงาน โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2524 ข้อ 107(1) กับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย โจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้กระทำโดยประมาทดังที่จำเลยอ้าง การสอบสวนของคณะกรรมการที่จำเลยตั้งขึ้นมาไม่ชอบเพราะไม่ได้ส่งคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้โจทก์ทราบล่วงหน้า7 วัน ตามคำสั่งทั่วไปที่ บภบ.39/2522 ลงวันที่ 16 เมษายน 2522ข้อ 1.3 ทั้งการที่จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 3.5 จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและกรณีดังกล่าวโจทก์ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาข้อหากระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย ผลการพิจารณาคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 3.5 ว่าด้วยระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยต้องสั่งให้โจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบแล้วแต่จำเลยปฏิเสธ จำเลยจึงต้องชดใช้เงินต่าง ๆ ตามสิทธิที่โจทก์พึงได้ให้แก่โจทก์ ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งไล่ออกของจำเลยที่พ.1/นท.1/ 6953/2529 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2529 และบังคับจำเลยจ่ายเงินสะสมสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2524 ข้อ 107(1) ซึ่งได้กำหนดให้ประแจกลไฟฟ้าเลขที่ 33 ก. ซึ่งวางไว้บังคับกับเครื่องตกรางหมายเลข 1 เป็นท่าทางประธานตลอดเวลา แต่โจทก์ได้กลับประแจกลไฟฟ้าเลขที่ 33 ก. และเครื่องตกรางหมายเลข 1ทิ้งไว้โดยไม่มีผู้ใดร้องขอ เป็นเหตุให้รถจักรดีเซล 6 คัน วิ่งออกจากโรงรถจักรบางซื่อไปก่อเหตุอันตรายอย่างร้ายแรง อันเป็นการประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงาน เป็นเหตุให้เสียหายแก่กิจการของจำเลยอย่างร้ายแรงซึ่งมีโทษถึงไล่ออก จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ตามข้อบังคับแล้วจึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์กระทำผิดวินัยและกระทำความผิดทางอาญาด้วยจำเลยจึงลงโทษไล่โจทก์ออกจากงานได้โดยไม่ต้องรอฟังผลคดีอาญา โจทก์ไม่มีสิทธิกลับเข้าทำงานและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย คำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม จำเลยใช้สิทธิหักกลบลบหนี้เงินสะสมของโจทก์กับค่าเสียหายที่โจทก์ก่อขึ้นซึ่งยังไม่เพียงพอกับที่จำเลยเสียหาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย โจทก์ถูกไล่ออกจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน เงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ จึงนำมาเป็นฐานเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้ส่วนค่าเสียหายหากโจทก์เสียหายก็ควรได้รับเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายเป็นเวลา 2 ปี ดอกเบี้ยในเงินต่าง ๆ ที่โจทก์เรียกมาส่วนที่เกินกว่า5 ปี ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า การกระทำของโจทก์เป็นการประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(5)หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะทางรถจักรเข้าออกโรงรถจักรบางซื่อ มีประแจกลไฟฟ้าหมายเลข 33 ก. ซึ่งวางไว้บังคับกับเหล็กตกรางหมายเลข 1 วันเกิดเหตุโจทก์เข้าเวรต่อจากนายจวน ปัทมคัมภ์ โจทก์ตรวจพบว่านายจวนบันทึกไว้ในสมุดจดทางสะดวกว่านายตรวจทางบางซื่อขอปิดทางเพื่อซ่อมรางริมบึง โจทก์จึงเปิดเหล็กตกรางริมบึงให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบำรุงทางเข้าซ่อมทางโดยวิธีกลับประแจกลไฟฟ้าหมายเลข 33 ก. โดยโจทก์อ้างชื่อผู้ขอให้เปิดไม่ได้ หน้าที่ของโจทก์เมื่อเปิดประแจแล้ว ไม่มีเหตุจะทิ้งไว้นานถึง 33 นาที โดยไม่ทำการตรวจสอบเพราะแผงควบคุมการเดินรถที่หอสัญญาณจะแสดงอินดิเคเตอร์สีแดงให้โจทก์ทราบตลอดเวลา พฤติการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์แสดงถึงความไม่เอาใจใส่ ขาดความระมัดระวัง ขาดความรับผิดชอบในการทำงาน ปล่อยให้มีการกลับประแจเป็นเวลานานเกินสมควรโจทก์เลินเล่อเพราะเข้าใจว่าทางนั้นถูกปิดเพื่อซ่อมจึงไม่ตรวจสอบแต่โจทก์กล่าวในอุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงว่า โจทก์เปิดประแจโดยคนงานของฝ่ายบำรุงทางขอให้เปิดเมื่อเปิดประแจแล้วอินดิเคเตอร์ไม่ได้มีสีแดงตลอดเวลา การเปิดประแจและเหล็กตกรางไว้นานเท่าใดไม่ใช่สาระสำคัญที่จะฟังว่า โจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อเพราะผู้ที่อยู่บนหอสัญญาณจะมองไม่เห็นที่ตั้งประแจกลไฟฟ้าหมายเลข33 ก. และเหล็กตกรางหมายเลข 1 จึงไม่อาจรู้ว่ารถบำรุงทางได้ผ่านประแจหรือยังหากยังไม่ได้รับแจ้งจากผู้ขอก็จะยังไม่ปิดสาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่าได้มีการแจ้งให้โจทก์ทราบหรือยังว่าทำการตามที่ขอให้เปิดเสร็จแล้ว หากแจ้งแล้วโจทก์ยังไม่ปิดจึงจะถือว่าโจทก์กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ เห็นว่า เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาดังกล่าวแล้วเพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ แล้วนำไปวินิจฉัยข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นดังกล่าวมาแล้วข้างต้นอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ประการที่สองว่า จำเลยดำเนินการสอบสวนโจทก์โดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่าการที่จะพิจารณาว่าการเลิกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่จะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่และเหตุนั้นเป็นเหตุที่สมควรจะเลิกจ้างได้หรือไม่ส่วนกรณีที่จะต้องมีการสอบสวนและการสอบสวนจะต้องปฏิบัติอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งจะนำมาเป็นหลักในการพิจารณาว่าการสอบสวนของจำเลยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับแล้วจะถือว่าไม่มีเหตุนั้นในการเลิกจ้างหาได้ไม่ คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ถูกสอบสวนและถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในกรณีเดียวกันซึ่งตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3.5 ระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ปรับปรุงใหม่) จำเลยจะกระทำได้แต่เพียงสั่งให้ผู้ถูกสอบสวนออกจากงานไว้ก่อนตามข้อ 6 ทวิหรือสั่งให้พักงานไว้ก่อนตามข้อ 7 เพื่อรอฟังผลการพิจารณาคดีอาญาเท่านั้น จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่รอฟังผลการพิจารณาคดีของศาลจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเห็นว่าตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยดังกล่าว ข้อ 6 ทวิและข้อ 7 ในกรณีที่พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยมีกรณีต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกสอบสวนหรือฟ้องคดีอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา และจำเลยจะต้องรอฟังผลการสอบสวนหรือพิจารณานั้น กรณีของโจทก์ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนแล้วจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฐานะประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เสียหายแก่กิจการจำเลยอย่างร้ายแรง เป็นคำสั่งที่ชอบและเป็นธรรมซึ่งตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวไม่จำเป็นต้องรอฟังผลการพิจารณาคดีของศาลก่อน จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ประการที่สามว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้กระทำผิดจำเลยจึงต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้น เห็นว่าสำหรับค่าเสียหายได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายที่โจทก์คิดคำนวณจากค่าจ้างที่จะได้รับในอนาคตรวมทั้งเงินสงเคราะห์รายเดือนและเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทที่โจทก์อ้างว่าควรจะได้รับหากไม่ถูกไล่ออกจากงาน ส่วนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(5) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ และตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 3.5 ระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ปรับปรุงใหม่) เอกสารหมาย ล.6 ข้อ 4 กำหนดว่า”การไล่ออกจะกระทำได้ เมื่อพนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังต่อไปนี้ …ฯลฯ
(จ) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานเป็นเหตุให้เสียหายหรืออาจจะเสียหายแก่กิจการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างร้ายแรง…”
โจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า จำเลยจะต้องคืนเงินสะสมจากกองทุนเงินสะสมเฉพาะส่วนที่เป็นสิทธิของโจทก์ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ในข้อนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยใช้สิทธิหักกลบลบหนี้เงินสะสมของโจทก์กับค่าเสียหายที่จำเลยได้รับเนื่องจากการกระทำของโจทก์แล้ว เห็นว่า กรณีคงฟังได้ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าใด และที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยฟ้องคดีโจทก์ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำเลยจึงสงวนสิทธิที่จะไม่คืนเงินสะสมเพื่อรอการหักกลบลบหนี้ได้นั้นคดีที่จำเลยฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ยังไม่ปรากฏผลของคดีค่าเสียหายของจำเลยจะเป็นจำนวนเงินเท่าใดยังไม่ยุติ ค่าเสียหายจึงยังไม่แน่นอนจำเลยจะนำเอาค่าเสียหายดังกล่าวมาหักจากเงินสะสมของโจทก์หาได้ไม่ และไม่มีเหตุที่จำเลยจะรอการจ่ายเงินสะสมไว้ได้ จำเลยจึงต้องคืนเงินสะสมให้แก่โจทก์อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินสะสมคืนจากจำเลยจำนวนเท่าใด ตั้งแต่เมื่อใดดอกเบี้ยของเงินสะสมเป็นจำนวนเท่าใด เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นเรื่องเงินสะสมตามนัยดังกล่าวข้างต้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางบางส่วนเฉพาะประเด็นเรื่องเงินสะสม ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาใหม่ในประเด็นข้อนี้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง