คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2683/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อ. เป็นพนักงานขายของโจทก์ จำเลยติดต่อสั่งซื้อสินค้าจาก อ. ตลอดมา จำเลยทราบตั้งแต่แรกแล้วว่าบัญชีเงินฝากที่จำเลยโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าเป็นของมารดา อ. ถือไม่ได้ว่าเป็นการชำระหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะมิได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ที่มีอำนาจรับชำระหนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม 2547 จำเลยซื้อสินค้าประเภทผ้ายีนไปจากโจทก์ 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,052,364 บาท และได้รับสินค้าไปครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,058,941.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,052,364 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ในการซื้อขายสินค้าตามฟ้อง โจทก์ไม่เคยติดต่อกับจำเลยแต่ให้นายเอกลูกจ้างของโจทก์เป็นผู้ดำเนินการแทนและนายเอกได้ให้หมายเลขบัญชีเงินฝากของธนาคารเพื่อให้จำเลยโอนเงินเข้าบัญชีชำระหนี้ค่าสินค้า จำเลยเข้าใจว่าเป็นบัญชีเงินฝากของโจทก์จึงยอมโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าว หลังจากถูกฟ้องคดีนี้แล้วจึงทราบว่าบัญชีดังกล่าวเป็นของนางนงนุชมารดานายเอก จำเลยชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,052,364 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2548 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 6,577.27 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรม-เนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า นายเอกเป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งพนักงานขาย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม 2547 จำเลยสั่งซื้อสินค้าของโจทก์ประเภทผ้ายีนกับนายเอก 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,052,364 บาท ต่อมาโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ค่าสินค้าดังกล่าวจำเลยปฏิเสธอ้างว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่โดยจำเลยฎีกาว่าจำเลยได้ชำระค่าสินค้าตามฟ้องให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วโดยชำระให้แก่นายเอกซึ่งเป็นตัวแทนขายสินค้าและรับชำระค่าสินค้าจากจำเลยแทนโจทก์ เห็นว่า จำเลยให้การว่า ในการซื้อขายสินค้าตามฟ้อง โจทก์ไม่เคยมาติดต่อกับจำเลย แต่ให้นายเอกลูกจ้างของโจทก์เป็นผู้ดำเนินการแทน และนายเอกได้ให้หมายเลขบัญชีเงินฝากของธนาคารเพื่อให้จำเลยโอนเงินเข้าบัญชีชำระหนี้ค่าสินค้า จำเลยเข้าใจว่าเป็นบัญชีเงินฝากของโจทก์จึงยอมโอนเข้าบัญชีดังกล่าว หลังจากถูกฟ้องคดีนี้แล้วจึงทราบว่าบัญชีดังกล่าวเป็นของนางนงนุชมารดานายเอก แต่ในชั้นพิจารณา จำเลยกับเบิกความว่า จำเลยชำระค่าสินค้าตามฟ้องโดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนางนงนุช มารดานายเอกเนื่องจากนายเอกบอกว่านายเอกไม่มีบัญชีเงินฝาก การโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนางนงนุชจะเป็นการสะดวก คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวจึงขัดแย้งกับคำให้การและแสดงให้เห็นว่า จำเลยได้ทราบตั้งแต่แรกแล้วว่าบัญชีเงินฝากที่จำเลยโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าตามฟ้องเป็นของมารดานายเอก มิได้มีการเข้าใจผิดว่าเป็นบัญชีเงินฝากของโจทก์ดังที่ให้การ อย่างไรก็ดี การโอนเงินเข้าบัญชีของมารดานายเอกไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจผิดดังที่จำเลยอ้างหรือไม่ก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ และทางนำสืบของจำเลยก็ได้ความเพียงว่าจำเลยติดต่อสั่งซื้อสินค้าตามฟ้องกับนายเอกและชำระค่าสินค้าให้แก่นายเอกตลอดมา จำเลยไม่เคยติดต่อกับโจทก์เท่านั้นแต่จำเลยก็ไม่เคยได้รับใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการชำระค่าสินค้าจากโจทก์หรือมีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้รู้เห็นยินยอมให้นายเอกรับชำระค่าสินค้าตามฟ้องจากจำเลยแทนโจทก์ ทั้งจำเลยก็ทราบดีว่านายเอกเป็นเพียงพนักงานขายของโจทก์ น่าเชื่อว่าโจทก์จะต้องมีบัญชีเงินฝากไว้สำหรับทำธุรกิจการค้า การที่นายเอกบอกให้จำเลยโอนเงินชำระหนี้ค่าสินค้าเข้าบัญชีเงินฝากของมารดานายเอกโดยอ้างว่าเพื่อความสะดวกจึงเป็นเรื่องผิดวิสัย หากจำเลยโอนเงินชำระหนี้ค่าสินค้าเข้าบัญชีดังกล่าวจริงดังที่อ้างก็เป็นความผิดพลาดบกพร่องของจำเลยเองที่มิได้สอบถามเรื่องนี้จากโจทก์ให้ได้ความแน่ชัด ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้ค่าสินค้าตามฟ้องให้แก่นายเอกดังที่อ้างก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการชำระหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะมิได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้ที่มีอำนาจรับชำระหนี้ จำเลยจึงยังคงต้องรับผิดชำระค่าสินค้ารายนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share