คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2333/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยกับโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ยอมชำระเงินค่าเสียหายแก่จำเลย จำเลยจะย้ายโจทก์มาเป็นผู้จัดการสาขาธนาคารจำเลยที่ชลบุรี จำเลยสั่งย้ายแล้วโจทก์ป่วยมารับทำงานไม่ได้ ไม่เป็นเหตุที่โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความที่โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยไม่ย้ายโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำสัญญา จำเลยฟ้องให้โจทก์ชำระเงินตามยอม ศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว ไม่ใช่ฐานที่ตั้งของสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นมูลหนี้ จึงไม่นับอายุความ 10 ปีตั้งแต่วันที่ศาลพิพากษาคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความทำเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2505 เกิน 10 ปี ถึงวันฟ้องขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมโจทก์เป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรี ต่อมา พ.ศ. 2505 จำเลยย้ายโจทก์มาประจำสำนักงานใหญ่ของจำเลยโดยอ้างว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องในการให้สินเชื่อแก่ลูกค้า 18 ราย เป็นเหตุให้จำเลยเสียหายเป็นเงิน2,296,467 บาท โจทก์เสนอต่อจำเลยขอให้ย้ายโจทก์ไปเป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรีอีก โดยโจทก์จะติดตามทวงถามให้ลูกหนี้ 18 รายชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 5 ปี หากลูกหนี้ชำระให้ไม่ครบ โจทก์จะชดใช้แทนให้จำเลยจนครบ ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม 2505 โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า โจทก์ยอมรับผิดชดใช้ความเสียหายจากการให้สินเชื่อแก่ลูกค้า18 รายให้แก่จำเลย 2,296,467 บาท ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม2510 โดยจะผ่อนชำระให้เป็นรายปี ๆ ละไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท หากผิดนัดงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด และจำเลยตกลงให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรีต่อไป และเพื่อช่วยเหลือให้โจทก์ได้เรียกร้องหนี้สินจากลูกค้าดังกล่าวกลับคืน จำเลยยินยอมเป็นฝ่ายเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีกับลูกหนี้ทั้ง 18 รายแต่ฝ่ายเดียว ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.16 และหลวงบำรุงราชนิยมเป็นผู้ค้ำประกันโจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 แต่โจทก์ไม่ได้ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรี เพราะหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว โจทก์ป่วยเป็นอัมพาตตลอดมาและไม่สามารถปฏิบัติงานได้จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุทุพพลภาพ โจทก์ไม่ผ่อนชำระหนี้ให้จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยจึงฟ้องให้โจทก์และหลวงบำรุงราชนิยมชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชำระเงิน 2,296,467 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2509 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้จำเลย หากโจทก์ไม่ชำระและมีการบังคับชำระหนี้จากทรัพย์ที่โจทก์จำนองไว้ ได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้หลวงบำรุงราชนิยมชำระเงินที่ขาดแก่จำเลยจนครบ ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6325/2510 ของศาลแพ่ง ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 25เมษายน 2516 ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2516 โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องโดยโจทก์และหลวงบำรุงราชนิยมยังไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้แก่จำเลยและยังไม่มีการบังคับคดีจากทรัพย์สินที่โจทก์จำนองเป็นประกันแต่อย่างใดคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6325/2510 ของศาลแพ่ง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์กลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรีตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2506 และโจทก์ทราบคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวแล้ว และจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2508 และในคดีดังกล่าว นายชะนะ สมิทธิอนันต์ กรรมการผู้จัดการธนาคารจำเลยเบิกความว่า การที่ตั้งโจทก์ให้กลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรี เป็นการช่วยเหลือโจทก์เพราะลูกหนี้ทั้ง 18 รายอยู่ที่จังหวัดชลบุรี จะได้เป็นการสะดวกในการที่โจทก์จะได้ทวงหนี้จากลูกหนี้เหล่านี้ถ้าโจทก์ยอมใช้ให้ 60 เปอร์เซ็นต์ตามที่ธนาคารจำเลยเสนอไปและโจทก์เก็บหนี้ได้เต็ม โจทก์ก็มีกำไร

ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความโดยอ้างว่าในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เพราะจำเลยยังไม่ได้แต่งตั้งโจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรีหลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้แต่งตั้งโจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรี และโจทก์ป่วยเป็นอัมพาตตลอดมาจนกระทั่ง จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน โจทก์จึงไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6325/2510มีผลใช้บังคับนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในปัญหาที่ว่าหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยแต่งตั้งโจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรีแล้วหรือไม่นั้น นอกจากจำเลยจะนำสืบว่า หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว คณะกรรมการธนาคารจำเลยมีมติให้โจทก์กลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรีเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2506 แล้วยังปรากฏจากสำนวนคดีแห่งหมายเลขแดงที่ 6325/2510 ของศาลแพ่งที่โจทก์อ้างว่าในคดีดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์กลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรีตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2506 และโจทก์ทราบคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวแล้ว จึงฟังได้ว่า หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์กลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรีแล้วตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2506 ดังนั้นแม้จะฟังว่าในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เพราะจำเลยยังไม่ได้แต่งตั้งให้โจทก์กลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรี แต่ต่อมาโจทก์ก็อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับตั้งแต่วันที่จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์กลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรี และนับจากวันที่จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์กลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรี จนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 การที่โจทก์ไม่สามารถไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรี เพราะป่วยเป็นอัมพาตตลอดมาจนกระทั่งจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตั้งหลักฐานขึ้นจากสัญญาประนีประนอมยอมความ มิได้ตั้งหลักฐานนั้นโดยคำพิพากษาชั้นที่สุดของศาล จึงจะนับอายุความตั้งแต่วันที่คำพิพากษาศาลฎีกาในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6325/2510ของศาลแพ่งมีผลบังคับไม่ได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ที่โจทก์ฎีกาว่า นายชะนะ สมิทธิอนันต์ กรรมการผู้จัดการธนาคารจำเลยเบิกความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6325/2510 ของศาลแพ่งว่าการตั้งโจทก์ให้กลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรีเป็นการช่วยเหลือโจทก์ เพราะลูกหนี้ทั้ง 18 รายอยู่ที่จังหวัดชลบุรีจะได้เป็นการสะดวกในการที่โจทก์จะได้ทวงหนี้จากลูกหนี้เหล่านี้ ถ้าโจทก์ยอมใช้ให้60 เปอร์เซ็นต์ตามที่ธนาคารจำเลยเสนอไป และโจทก์เก็บหนี้ได้เต็มโจทก์ก็มีกำไร เป็นการยอมรับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คำเบิกความดังกล่าวของนายชะนะ สมิทธิอนันต์ กรรมการผู้จัดการธนาคารจำเลย เป็นการอธิบายถึงเหตุผลที่ธนาคารจำเลยแต่งตั้งโจทก์กลับไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาชลบุรีเท่านั้นไม่ใช่เป็นการรับสภาพหนี้แต่อย่างใด”

พิพากษายืน

Share