แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ตายขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อมาถึงที่เกิดเหตุแล้วมิได้หยุดรถก่อนข้ามทางรถไฟกลับเร่งเครื่องรถพยายามแล่นผ่านทางรถไฟไป อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 63 ซึ่งกำหนดว่าจะต้องลดความเร็วและหยุดรถห่างจากทางรถไฟในระยะไม่น้อยกว่า 5 เมตร เมื่อรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่ผู้ตายขับชนกับรถไฟที่จำเลยขับ ผู้ตายจึงมีส่วนในการกระทำความผิดด้วย ย่อมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ผู้เป็นบุพการีจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้ตาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาเกิดเหตุ รถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 81-1551ชลบุรี ซึ่งมีนายอำนวย พวงกุหลาบ บุตรของโจทก์เป็นผู้ขับถูกรถไฟสายกรุงเทพ-พัทยา ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ขับชน เป็นเหตุให้นายอำนวยถึงแก่ความตาย มีปัญหาที่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเป็นประการแรกก่อนว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของฝ่ายใดโจทก์มีนายทองมูล สุขขี และนายเฮียง สนิทกุล เป็นประจักษ์พยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ในวันเวลาเกิดเหตุนายทองมูลและนายเฮียงขับรถยนต์ปิกอัพและรถยนต์บรรทุกสิบล้อมาหยุดรออยู่ที่ถนนก่อนถึงทางรถไฟประมาณ 50 เมตร เพื่อให้นายอำนวยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อแล่นข้ามทางรถไฟมาก่อน เพราะถนนที่นายอำนวยขับรถมานั้นแคบรถแล่นสวนกันไม่ได้ และเห็นรถไฟที่จำเลยขับแล่นมาด้วยความเร็วชนรถที่นายอำนวยขับ โดยนายทองมูลเบิกความในชั้นไต่ส่วนมูลฟ้องว่านายอำนวยขับรถข้ามทางรถไฟโดยมิได้หยุดรถก่อน แต่กลับเบิกความในชั้นพิจารณาว่าไม่ได้สังเกตว่านายอำนวยจะหยุดรถก่อนข้ามทางรถไฟหรือไม่ ส่วนนายเฮียงเบิกความว่านายอำนวยขับรถแล่นมาเรื่อย ๆ โดยไม่ได้หยุดรถก่อนที่จะข้ามทางรถไฟ คำของพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้เจือสมกับคำเบิกความของพยานฝ่ายจำเลย อันมีจำเลย นายบุญสพ หน่อแก้วช่างเครื่องรถไฟขบวนเกิดเหตุ และนายถาวร แหก้าน ราษฎรบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเบิกความว่า รถยนต์บรรทุกสิบล้อที่นายอำนวยขับมามิได้หยุดก่อนข้ามทางรถไฟ หากได้เร่งเครื่องรถพยายามแล่นผ่านไปจึงฟังได้ว่านายอำนวยมิได้หยุดรถที่ตนขับมาก่อนข้ามทางรถไฟ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 63 ที่บัญญัติว่า “ในทางเดินรถตอนใดที่มีรถไฟผ่านไม่ว่าจะมีเครื่องหมายระวังรถไฟหรือไม่ ถ้าทางรถไฟนั้นไม่มีสัญญาณระวังรถไฟหรือสิ่งปิดกั้น ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถและหยุดรถห่างจากทางรถไฟในระยะไม่น้อยกว่าห้าเมตร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะขับรถผ่านไปได้” ซึ่งผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาทตาม มาตรา 148 นับได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นนายอำนวยเป็นฝ่ายประมาทหาใช่จำเลยไม่นายอำนวยจึงไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ฟ้องคดีโดยเป็นบุพการีฟ้องแทนนายอำนวยบุตรของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) เมื่อบุตรของตนไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) แล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องด้วย ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน