คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2234/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่ เป็นดุลพินิจของศาลโดยพิจารณาจากพฤติการณ์และเหตุผลอื่น ๆ โดยทั่วไปในคดี มิใช่พิจารณาเฉพาะเพียงเหตุผลที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อคัดค้านเท่านั้น และแม้จำเลยจะคัดค้านการถอนฟ้อง ศาลก็ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้
ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า แม้จำเลยจะคัดค้านคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นก็เห็นว่าเป็นดุลพินิจของศาลที่ควรอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้น เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยให้แล้วว่าคำร้องคัดค้านของจำเลยไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประจำทางตามเส้นทางรวม ๗ สาย เมื่อใบอนุญาตขนส่งสิ้นอายุโจทก์ได้ขอต่ออายุ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ออกไปอนุญาตให้โจทก์ตามที่เคยปฏิบัติ แต่บังคับให้โจทก์ขายรถยนต์ของโจทก์ให้จำเลยในราคาต่ำ และร่วมกันสั่งให้โจทก์ระงับการเดินรถในเส้นทางต่าง ๆ อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๔๘ และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ต่อมาจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ร่วมกันนำรถยนต์เข้ามาวิ่งในเส้นทางของโจทก์ทุกสาย และจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๘ ต้องร่วมกันรับผิดในการทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย โจทก์ต้องหยุดเดินรถ ๑๒ วันขาดรายได้ไปสองแสนบาทเศษ ขอให้พิพากษาว่า คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ ๓ ออกใบอนุญาตขนส่งประจำทางทั้ง ๗ สายให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยที่ ๔ นำรถเข้าไปเดินในเส้นทางของโจทก์ ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑ , ๒, ๓, ๕, ๖ และ ๗ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ในตำแหน่งเพราะไม่ใช่นิติบุคคล จำเลยที่ ๓ สั่งระงับการเดินรถของโจทก์ไม่เป็นการละเมิดเพราะใบอนุญาตเดินรถของโจทก์สิ้นอายุแล้ว โจทก์จะขายรถยนต์ของโจทก์หรือไม่เป็นสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ ๔ นำรถเข้าวิ่งโดยได้รับอนุญาตแล้ว โจทก์ไม่เสียหายเท่าที่ฟ้อง จำเลยที่ ๕, ๖ และ ๗ ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยชอบไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ และ ๘ ให้การและฟ้องแย้งเป็นใจความเช่นเดียวกับจำเลยที่ ๑ กับพวกและว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ยังคงเดินรถประจำทางรวม ๕ เส้นทางเป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยที่ ๔ ขอให้ใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์นำรถออกรับคนโดยสารไม่เป็นการละเมิด เพราะจำเลยที่ ๔ ไม่มีคุณสมบัติที่จะประกอบการขนส่ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ในวันนัดชี้สองสถานศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน และนัดฟังคำพิพากษาสั่งให้แยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๔ และที่ ๘ ออกจากคดีนี้เพื่อให้ฟ้องเข้ามาใหม่
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีนี้เสีย โดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ ๑, ๒ และ ๓ ได้พ้นตำแหน่งเกี่ยวกับการขนส่งแล้ว หากดำเนินคดีไปจะเป็นภาระแก่ผู้ที่จะมารับหน้าที่แทน จำเลยทั้งแปดคัดค้านว่า โจทก์ไม่มีทางชนะคดีมีผู้เข้ามารับหน้าที่แทนสามารถดำเนินคดีต่อไปได้ จำเลยต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก โจทก์อาจฟ้องจำเลยอีกได้ ไม่ควรให้โจทก์ถอนฟ้อง
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องอ้างฎีกาที่ ๑๐๘๕/๒๔๙๑
จำเลยที่ ๔ และที่ ๘ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๔ และที่ ๘ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล โดยพิจารณาจากพฤติการณ์และเหตุผลอื่น ๆ โดยทั่วไปในคดีอาทิเช่นความสุจริตในการดำเนินคดีของโจทก์ และผลได้ผลเสียของคู่ความเป็นต้นประกอบด้วย มิใช่พิจารณาเฉพาะเพียงเหตุผลที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อคัดค้านเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า แม้จำเลยจะคัดค้านคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นก็เห็นว่าเป็นดุลพินิจของศาลที่ควรอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้น เท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยให้แล้วว่าคำร้องคัดค้านของจำเลยยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๑ แล้ว
พิพากษายืน.

Share