แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5 บัญญัติว่า “ในชั้นพิจารณาหากมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือบันทึกคำเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่น ประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้” ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่นมาประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ เฉพาะกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลชั้นต้นได้ออกหมายเรียกผู้เสียหายและ ม. หลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ได้ตัวผู้เสียหายและ ม. มาเบิกความเป็นพยาน ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับผู้เสียหายและ ม. แต่โจทก์ก็ไม่ได้ตัวมาสืบ ทั้งเหตุคดีนี้เกิดขึ้นเป็นเวลา 10 ปีเศษแล้ว จึงเป็นการยากที่โจทก์จะติดตามผู้เสียหายและ ม. มาเป็นพยานได้ประกอบกับโจทก์ตรวจสอบข้อมูลในระบบทะเบียนราษฎร์แล้วพบว่า ผู้เสียหายเปลี่ยนจากชื่อเดิมเป็น ป. ส่วน ม. ไม่พบข้อมูล อีกทั้งโจทก์ยังได้แถลงว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่มีเบาะแสเกี่ยวกับแหล่งที่อยู่ของผู้เสียหายและ ม. เพิ่มเติม จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ไม่สามารถนำตัวผู้เสียหายและ ม. มาเบิกความต่อศาลได้ ถือว่ากรณีมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร ที่ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของผู้เสียหายและ ม. ที่เบิกความไว้ในคดีอื่นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 276, 340, 340 ตรี ริบถุงยางอนามัยและซองใส่ถุงยางอนามัยของกลาง และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 18,110 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำคุกตลอดชีวิต ข้อหาอื่นและคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ข้อมูลที่จำเลยให้ในชั้นจับกุมและทางนำสืบจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลย 40 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่านาย ห. นาย จ. นาย ช. นาย ณ. และนาย ภ. จำเลยทั้งห้าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2056 – 2058/2550 ของศาลชั้นต้น กับพวกรวม 7 คน ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายคดีนี้อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่กระทำความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหาย และนางสาว ม. มาเบิกความเป็นประจักษ์พยาน แต่โจทก์มีบันทึกคำให้การของผู้เสียหายและนางสาว ม. ในชั้นสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้เสียหาย และนางสาว ม. ไว้ในวันถัดจากวันเกิดเหตุ บันทึกคำเบิกความของผู้เสียหายและนางสาว ม. ในคดีที่นาย ห. นาย จ. นาย ช. นาย ณ. และนาย ภ. ถูกฟ้องเป็นจำเลยในกรณีเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2056 – 2058/2550 ของศาลชั้นต้น อ้างเป็นพยาน ซึ่งบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าว ได้จัดทำขึ้นทันทีทันใด หลังเกิดเหตุอันเป็นเวลาใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันไปผู้เสียหายและนางสาว ม. ยังไม่มีเวลาและโอกาสที่จะตัดต่อเติมเสริมแต่งหรือปั้นเรื่องการเป็นอย่างอื่นเพื่อปรักปรำใส่ความจำเลย และในบันทึกดังกล่าว ผู้เสียหายและนางสาว ม. บอกเล่าเหตุการณ์รายละเอียดและขั้นตอนการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกโดยตลอดว่าจำเลยและนาย ช. ได้ลงจากรถกระบะมาฉุดผู้เสียหายและนางสาว ม. ตามลำดับแต่นางสาว ม. สะบัดมือหลุด ทำให้นาย ช. ไม่สามารถนำตัวนางสาว ม. ไปได้ ส่วนผู้เสียหายถูกจำเลยนำตัวไปที่ขนำในสวนยางพาราและจำเลยเป็นคนข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายเป็นคนแรก เมื่อผู้เสียหายมาเบิกความในคดีที่นาย ห. นาย จ. นาย ช. นาย ณ. และนาย ภ. ถูกฟ้องข้างต้น ผู้เสียหายก็เบิกความยืนยันว่าจำเลยร่วมเป็นคนร้ายด้วย โดยให้ถ้อยคำบอกเล่าเหตุการณ์สอดคล้องตรงกันกับบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าว เมื่อพิเคราะห์ถึงว่าผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน และจากคำเบิกความของผู้เสียหาย จำเลยกับพวกมิได้ปกปิดหรืออำพรางรูปร่างหน้าตา ประกอบกับผู้เสียหายมีเวลาและโอกาสอยู่กับจำเลยกับพวก เป็นระยะเวลานานพอที่จะสังเกตจดจำจำเลยกับพวกได้โดยผู้เสียหายชี้ยืนยันภาพถ่ายของจำเลยไว้ด้วย จึงเชื่อว่าผู้เสียหายจำจำเลยได้จริงและเบิกความไปตามความจริงที่รู้เห็นเกี่ยวข้องบันทึกคำให้การและบันทึกคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวข้างต้น จึงมีเหตุผลและมีน้ำหนักรับฟังได้ นอกจากนี้จากคำให้การของนาย ห. นาย ช. นาย ณ. และนาย ภ. จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2056 – 2058/2550 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดร่วมกับจำเลยว่า จำเลยเป็นคนลงจากรถกระบะไปฉุดผู้เสียหายขึ้นรถ และจำเลยได้ร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยนั้น แม้ว่าคำให้การของบุคคลดังกล่าวในชั้นสอบสวน จะมีลักษณะเป็นพยานบอกเล่าและเป็นพยานซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้ให้การเพื่อปัดความรับผิดของตน เพียงแต่ให้การในรายละเอียดที่ตนเองประสบมา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 หาได้ห้ามมิให้รับฟังพยานซัดทอดแต่อย่างใดไม่ เพียงแต่ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพัง เพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่นมีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานอื่นประกอบมาสนับสนุน ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำเลยนั้นมีนาย น. และนาง ป. พนักงานคุมประพฤติ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพยานเบิกความว่าพยานเป็นผู้สอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนาย ช. และนาย ณ. ซึ่งให้การถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ว่าจำเลยเป็นคนลงจากรถไปฉุดผู้เสียหายขึ้นรถกระบะแล้วพาผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเราที่ขนำในสวนยางพารา โดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านคำเบิกความของนาย น. และนาง ป. แต่อย่างใด ซึ่งคำเบิกความของนาย น. และนาง ป. เป็นแหล่งที่มาของข้อมูลเป็นอิสระต่างหากจากการสืบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวนและการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ตัวผู้เสียหายและนางสาว ม. มาเบิกความด้วยตนเองโดยตรง แต่โจทก์ก็มีบันทึกคำให้การของผู้เสียหายและนางสาว ม. ในชั้นสอบสวน และคำเบิกความของผู้เสียหายและนางสาว ม. ในคดีที่พวกของจำเลยถูกฟ้องในเหตุการณ์เดียวกันมาส่งอ้างต่อศาล ซึ่งจากบันทึกดังกล่าวผู้เสียหายยืนยันว่าจำเลยร่วมเป็นคนร้ายคนหนึ่งด้วยทันทีที่ผู้เสียหายกลับมาถึงบ้าน ก็ได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน และให้ถ้อยคำยืนยันเหตุการณ์และรายละเอียดของพฤติการณ์ต่างๆ มาโดยตลอด เมื่อฟังประกอบพยานโจทก์คนอื่นๆ ซึ่งเป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมและใกล้ชิดกับเหตุการณ์แล้ว พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและมีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมกระทำความผิดด้วย พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์ไม่สามารถติดตามผู้เสียหายและนางสาว ม. มาเป็นพยานได้ มิใช่เป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือเหตุผลสมควรที่จะต้องรับฟังพยานบอกเล่าแทนนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/5 บัญญัติว่า “ในชั้นพิจารณาหากมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หรือบันทึกคำเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่น ประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้” ตามบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่นมาประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ออกหมายเรียกผู้เสียหายและนางสาว ม. หลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ได้ตัวผู้เสียหายและนางสาว ม. มาเบิกความเป็นพยาน ศาลชั้นต้นจึงได้ออกหมายจับผู้เสียหายและนางสาว ม. แต่โจทก์ก็มิได้ตัวบุคคลทั้งสองมาสืบ เพื่อพิเคราะห์ถึงเหตุคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2548 เป็นเวลา 10 ปีเศษแล้ว จึงเป็นการยากที่โจทก์จะติดตามบุคคลทั้งสองมาเป็นพยานได้ประกอบกับโจทก์ได้ตรวจสอบข้อมูลในระบบทะเบียนราษฎร์แล้วพบว่า ผู้เสียหายเปลี่ยนชื่อ ส่วนนางสาว ม. ไม่พบข้อมูล อีกทั้งโจทก์ยังได้แถลงว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่มีเบาะแสเกี่ยวกับแหล่งที่อยู่ของบุคคลทั้งสองเพิ่มเติมจึงน่าเชื่อว่าโจทก์ไม่สามารถนำตัวผู้เสียหายและนางสาว ม. มาเบิกความต่อศาลได้ ถือว่ากรณีมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร ที่ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของพยานดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/5 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่งแม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 276 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
พิพากษายืน