แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นพนักงานตัดกระจก ทำงานอยู่ในจุดตัดกระจก ใช้เวลาตัดกระจกประมาณ 50 นาที เสร็จแล้วหยุดพักรอกระจกที่จะส่งมาใหม่เป็นเวลา 20 นาที ทำสลับกันเช่นนี้จนกว่าจะออกกะทำงานกะละ 8 ชั่วโมง 15 นาทีกะหนึ่ง ๆ โจทก์จึงมีเวลาพัก 2 ชั่วโมง 20 นาที
เมื่อปรากฏว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 6 เพียงกำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักเท่านั้นมิได้บังคับว่าจะต้องกำหนดในลักษณะที่เป็นรูปแบบอย่างใดไม่ แม้ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของจำเลยจะระบุให้หัวหน้าแผนกเป็นผู้กำหนดเวลาพัก แต่กลับปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้กำหนดก็หาทำให้เวลาดังกล่าวไม่ใช่เวลาพักไม่ ที่โจทก์จะต้องขออนุญาตก่อนออกนอกโรงงานในช่วงระยะเวลา 20 นาที ก็เพียงเพื่อให้รู้ว่าระยะเวลาดังกล่าวโจทก์อยู่ที่ใดเท่านั้น หลังจากได้รับอนุญาตแล้วโจทก์ย่อมใช้เวลาดังกล่าวได้อย่างอิสระ จึงถือได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจัดให้โจทก์มีเวลาพักโดยถูกต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 6 แล้ว
โจทก์ทำงานกะละ 8 ชั่วโมง 15 นาที กำหนดเวลาทำงานตามปกติย่อมหมายถึงเวลาทำงานอย่างแท้จริง ไม่นับเวลาพักเข้าเป็นเวลาทำงานจึงต้องนำเวลาพัก 20 นาที หักออกจากช่วงระยะเวลาที่โจทก์ทำงานเวลาทำงานตามปกติของโจทก์จึงไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำงานล่วงเวลา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ทำหน้าที่เป็นพนักงานตัดกระจก การทำงานแบ่งออกเป็นกะ วันละ 3 กะ กะละ 8 ชั่วโมง 15 นาทีเกินกว่าเวลาปกติวันละ 15 นาที หรือเกินกว่าสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง เป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 3(1) ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยให้โจทก์ทำงานเกินกว่าเวลาทำงานปกติตามกะ จำเลยจัดให้โจทก์มีเวลาพักเกินกว่าวันละ 1 ชั่วโมง เวลาพักที่มีอยู่ในระหว่างเวลาทำงานตามปกติ ย่อมไม่ถือเป็นเวลาทำงาน เมื่อหักเวลาพักระหว่างการทำงานออกกะละ 1 ชั่วโมง โจทก์จึงทำงานเพียงวันละ 7 ชั่วโมง15 นาทีหรือสัปดาห์ละ 43 ชั่วโมง 30 นาที ไม่เป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 3
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดว่าเวลาพักระหว่างทำงานประจำวันอาจมีได้หลายครั้ง แต่รวมแล้วไม่เกิน 60 นาทีโดยพนักงานตกลงยินยอมให้หัวหน้าแผนกเป็นผู้กำหนดเวลาพักให้ และการพักแต่ละครั้งต้องไม่น้อยกว่า 20 นาที ดังนั้นเมื่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 6 เพียงกำหนดให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักเท่านั้นมิได้บังคับว่าจะต้องกำหนดในลักษณะที่เป็นรูปแบบอย่างใดไม่ โจทก์ทำงานในแผนกตัดกระจก ทำงานเป็นกะ กะละ 8 ชั่วโมง 15 นาที โจทก์ทำงานอยู่ในจุดตัดกระจก ใช้เวลาตัดกระจกประมาณ 50 นาที เสร็จแล้วหยุดพักรอกระจกที่จะส่งมาใหม่เป็นเวลา 20 นาที ทำสลับกันเช่นนี้จนกว่าจะออกกะ แม้ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของจำเลยจะระบุให้หัวหน้าแผนกเป็นผู้กำหนดเวลาพัก แต่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้กำหนดไม่ใช่หัวหน้าแผนก ก็หาทำให้เวลาดังกล่าวไม่ใช่เวลาพักไม่ ที่โจทก์ต้องขออนุญาตก่อนออกจากโรงงานในช่วงระยะเวลา 20 นาที ก็เพียงเพื่อให้รู้ว่าระยะเวลาดังกล่าวโจทก์อยู่ที่ใดเท่านั้นหลังจากได้รับอนุญาตแล้วโจทก์ย่อมใช้เวลาดังกล่าวได้อย่างอิสระ จึงถือได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจัดให้โจทก์มีเวลาพักโดยถูกต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 6 แล้ว
โจทก์ทำงานกะละ 8 ชั่วโมง 15 นาที กำหนดเวลาทำงานตามปกตินั้นหมายถึงเวลาที่ลูกจ้างทำงานอย่างแท้จริง โดยไม่นับเวลาพักรวมเข้าเป็นเวลาทำงานปกติ จึงต้องนำเวลาที่โจทก์ได้พัก 20 นาทีออกจากช่วงระยะเวลาของงานเวลาทำงานตามปกติาของโจทก์จึงไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำงานล่วงเวลา
พิพากษายืน